เมื่อใกล้ถึงเทศกาลสงกรานต์ หลายคนเตรียมตัวออกเดินทางกลับบ้านหรือร่วมเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน แต่สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมในช่วงวันหยุดยาวนี้ เพราะหากละเลยแม้เพียงเล็กน้อย อาจต้องเสียค่าปรับหรือโดนดำเนินคดีโดยไม่ตั้งใจ
ไม่ว่าจะเป็นการสาดน้ำโดยไม่เต็มใจ ปะแป้งโดยไม่ได้รับอนุญาต เมาแล้วขับ หรือเปิดเพลงเสียงดังเกินขนาด ล้วนมีโทษทางกฎหมายทั้งสิ้น บทความนี้จึงรวบรวมข้อมูลที่ควรรู้ เพื่อให้สงกรานต์นี้เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่ปลอดภัยทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
อย่าสาด ถ้าเขาไม่เต็มใจ
เทศกาลสงกรานต์แม้จะขึ้นชื่อเรื่องการเล่นน้ำ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะยินดีรับน้ำ หากสาดน้ำใส่ผู้อื่นโดยไม่ยินยอม และส่งผลให้เกิดความเสียหาย อาจเข้าข่าย ทำร้ายร่างกาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท
หากทรัพย์สินของผู้ถูกสาดได้รับความเสียหาย เช่น โทรศัพท์มือถือเปียกน้ำจนใช้การไม่ได้ ผู้ก่อเหตุอาจถูกดำเนินคดีในข้อหา ทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท
ปะแป้งต้องได้รับอนุญาต
การปะแป้งในช่วงสงกรานต์ แม้จะเป็นวัฒนธรรมที่หลายคนคุ้นเคย แต่หากทำโดยไม่ได้รับความยินยอม อาจเข้าข่าย คุกคามทางเพศ มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
หากพฤติกรรมถึงขั้นล่วงละเมิดหรือกระทำอนาจาร ผู้กระทำจะถูกดำเนินคดีในข้อหา กระทำอนาจาร ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท
แต่งตัวโป๊เกินไป อาจโดนปรับ
แม้การแต่งกายจะเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่หากแต่งตัวโป๊จนเข้าข่าย กระทำการลามกอนาจาร อาจถูกปรับไม่เกิน 5,000 บาท ดังนั้นควรเลือกชุดให้เหมาะสม และไม่ก่อให้เกิดความไม่สบายใจแก่ผู้อื่น
เดินทางอย่างปลอดภัยตามกฎหมาย
การใช้รถช่วงเทศกาลเป็นเรื่องสำคัญ ต้องมี พ.ร.บ. รถยนต์ ต่ออายุไม่เกิน 1 ปี หากไม่มีหรือขาดต่อ โทษปรับสูงสุดถึง 10,000 บาท
สามารถนั่งท้ายกระบะได้ แต่ต้องไม่เกิน 6 คน (หรือ 3 คนสำหรับรถแค็บ) ห้ามยืนหรือนั่งริมขอบกระบะ และต้องไม่ขับเร็วเกิน 60 กม./ชม. ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
การขับขี่จักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกกันน็อคทั้งคนขับและผู้โดยสาร มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท เพื่อความปลอดภัยควรสวมใส่ทุกครั้ง
ห้ามดื่มในพื้นที่ต้องห้าม
สถานที่ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ตามกฎหมายได้แก่ วัด โรงพยาบาล สถานศึกษา สถานที่ราชการ สวนสาธารณะ และปั๊มน้ำมัน หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท
เมาแล้วขับ ไม่รอดแน่นอน
หากตรวจพบแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000 – 20,000 บาท และพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรืออาจถูกเพิกถอนใบอนุญาต
กรณี ปฏิเสธไม่เป่าวัดแอลกอฮอล์ ถือว่ามีความผิดเช่นเดียวกับเมาแล้วขับ และอาจถูกยึดรถไว้ไม่เกิน 7 วัน
แม้ไม่ใช่คนขับ หาก ผู้โดยสารดื่มแอลกอฮอล์ในรถ ก็มีความผิด โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท
ขับรถเร็วเกินกำหนด ผิดทั้งกฎหมายและเสี่ยงชีวิต
กฎหมายกำหนดความเร็วสูงสุดในเขตเมืองไม่เกิน 80 กม./ชม. และนอกเมืองไม่เกิน 90 กม./ชม. หากฝ่าฝืนจะถูกปรับไม่เกิน 1,000 บาท (บางถนนอาจมีข้อยกเว้น)
ระวังทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย
การทะเลาะในที่สาธารณะ มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หากทำร้ายร่างกายแม้ไม่รุนแรง ก็มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เปิดเพลงสนุกได้ แต่อย่ารบกวนคนอื่น
หากเปิดเพลงเสียงดังเกิน 75 เดซิเบล หรือเปิดเกินเวลา 22.00 – 06.00 น. อาจเข้าข่ายก่อความเดือดร้อนรำคาญ มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือหากส่งผลกระทบต่อคนหมู่มาก อาจถึงขั้นจำคุก 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท

ข้อมูล : ประชาสัมพันธ์จังหวัดระยอง