เทียบทิศทางนโยบายและผลกระทบต่อจีนของคู่ชิงผู้นำสหรัฐ ทรัมป์ VS แฮร์ริส 

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ เหลือเวลาอีกเพียงแค่ 4 สัปดาห์เท่านั้น ก็จะถึงวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน 2024 “ประชาชาติธุรกิจ” ชวนเปรียบเทียบผลกระทบต่อจีนที่จะเกิดขึ้น หลังสหรัฐได้ประธานาธิบดีคนต่อไป

แม้พรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตจะมีความเห็นต่างกันในหลายประเด็น แต่ในแง่ของนโยบายที่เกี่ยวข้องกับจีน ทั้งสองพรรคล้วนเห็นพ้องต้องกันว่าจีนเป็นคู่แข่งสำคัญของสหรัฐ เช่น ในด้านการค้า ยุทธศาสตร์ทางเทคโนโลยี ความมั่นคง และอิทธิพลในเวทีโลก 

ทว่ารายละเอียดที่แต่ละพรรคจะใช้ต่อกรกับจีนนั้นต่างกันออกไป ซึ่งเป็นหัวข้อที่อาจไม่ได้ถูกพูดถึงมากนักในการรณรงค์เลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024 นี้ 

นโยบายที่ไม่ค่อยกล่าวถึง

นโยบายที่เกี่ยวข้องกับจีนไม่ได้ถูกเน้นย้ำบ่อยนักในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ หากจะถูกเน้น ก็มีเพียงแค่ประเด็น “กำแพงภาษี” เท่านั้น ซึ่งบีบีซี (BBC) วิเคราะห์ว่า เป็นเพราะพลเมืองอเมริกันที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งให้น้ำหนักกับประเด็นสำคัญอื่น ๆ มากกว่า โดยอิงจากผลสำรวจของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Action) พบว่า พลเมืองสหรัฐให้ความสำคัญกับปัญหาผู้อพยพในสหรัฐถึง 38% ขณะที่ 28% ให้ความสำคัญกับสงครามในยูเครนและฉนวนกาซา ขณะที่มีเพียง 14% เท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับเรื่องจีน 

ด้วยเหตุนี้ คามาลา แฮร์ริส (Kamala Harris) ซึ่งรับช่วงเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตต่อจากโจ ไบเดน (Joe Biden) ในวันที่ 20 สิงหาคม และมีเวลาในการรณรงค์หาเสียงอย่างจำกัด จึงต้องเร่งสร้างความนิยมด้วยการหาเสียงในประเด็นปัญหาที่ชาวอเมริกันใส่ใจจริง ๆ 

ส่วนทางฝั่งรีพับลิกัน เดอะ ดิโพลแมต (The Diplomat) สื่อด้านการระหว่างประเทศวิเคราะห์ว่า นโยบายเกี่ยวกับจีนของรัฐบาลไบเดน ไม่ได้มีบาดแผลให้โจมตีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากเท่าประเด็นสงครามในกาซา และการถอนทัพที่ฉุกละหุกในอัฟกานิสถานจนมีทหารเสียชีวิต 13 นาย ซึ่งสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประธานาธิบดี โจ ไบเดนได้มากกว่า ดังนั้น รีพับลิกันจึงไม่ยกเรื่องเกี่ยวกับจีนมาพูดมากนัก 

คามาลา แฮร์ริส มีนโยบายเกี่ยวกับจีนหรือยัง

บีบีซี เผยว่า ทรัมป์กล่าวถึงจีน 40 ครั้ง ในการปราศรัย 6 ครั้งหลังการดีเบตเมื่อวันที่ 10 กันยายน  ส่วนคามาลา แฮร์ริสไม่ได้พูดถึงจีนเลยแม้แต่ครั้งเดียว ในการปราศรัย 5 ครั้งหลังการดีเบต เช่นนั้นแล้ว คามาลา แฮร์ริสมีนโยบายต่อจีนหรือไม่

ตามรายงานของผู้ช่วยประธานาธิบดีฝ่ายกิจการความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ (Assistant to the President for National Security Affairs) ในการเยือนจีนอย่างเป็นทางการของนายเจก ซัลลิแวน (Jake Sullivan) ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ ซัลลิแวน ย้ำกับผู้สื่อข่าวว่า คามาลา แฮร์ริสเป็นผู้นำหลักของทีมนโยบายการต่างประเทศภายใต้รัฐบาลไบเดน ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากในการวางแผนและบริหารกลยุทธ์โดยรวมต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน 

หากวิเคราะห์ตามข้อมูลนี้ คามาลา แฮร์ริส น่าจะวางแผนนโยบายต่อจีนเอาไว้แล้ว เพียงแต่เธอไม่ได้นำเสนอออกมา ทั้งยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องนำไปใช้เร่งคะแนนเสียง 

วิเคราะห์ทิศทางนโยบายผู้นำสหรัฐและผลกระทบต่อจีน

สำนักข่าวดิ อินทิเพรตเตอร์ (The Intepretor) วิเคราะห์ว่า ในมุมมองของจีน ทรัมป์หรือแฮร์ริสต่างก็ไม่ดีต่อจีนทั้งคู่ แต่จีนน่าจะอยากให้แฮร์ริสชนะมากกว่า เพราะว่าทรัมป์คาดเดาไม่ได้ อีกทั้งนโยบายต่าง ๆ ของแฮร์ริสจะไม่เปลี่ยนไปจากแนวทางเดิมของไบเดนมากนัก 

บทวิเคราะห์ของบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ ดีซานชีร่า แอนด์ แอสโซซิเอตส์ (Dezan Shira & Associates) ที่เผยแพร่ในไชน่า บรีฟฟิ่ง (China Briefing) มองว่า ผลการเลือกตั้งสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อจีนในทิศทางเดียวกันแต่มีรายละเอียดการดำเนินงานที่ต่างออกไป โดยแบ่งเป็น 3 ด้าน ดังนี้

1.นโยบายการค้า 

ดีซานชีร่า แอนด์ แอสโซซิเอตส์ มองว่า ทั้งทรัมป์และไบเดนต่างมีนโยบายขึ้นภาษีศุลกากรกับจีนด้วยกันทั้งคู่ แต่ทรัมป์จะขึ้นภาษีอย่างครอบคลุม ส่วนไบเดนขึ้นภาษีเจาะจงประเภทสินค้ามากกว่า

ทรัมป์มีแผนขึ้นภาษีสินค้านำเข้าอย่างครอบคลุมจากทุกประเทศคู่ค้า (universal baseline tariffs ) ซึ่งกระทบต่อสินค้าอุปโภคบริโภคจากจีนอย่างมาก ที่สำคัญ ทรัมป์ยังเคยกล่าวว่าจะถอนจีนออกจากสถานะ “ชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง” (Most-Favored Nation Treatment: MFN) อีกด้วย ซึ่งจะทำให้เขาสามารถขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 60% หรือมากกว่านั้น ตามที่เขาเคยพูดไว้ และจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนเสื่อมถอยอย่างมาก 

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังได้ประกาศแผนลดการพึ่งพาสินค้าจากจีนทุกชนิดภายใน 4 ปี และจะไม่อนุญาตให้บริษัทสหรัฐไปลงทุนในจีน เช่นเดียวกับที่ไม่อนุญาตให้บริษัทจีนมาลงทุนในสหรัฐ ทั้งนี้ ยังไม่เป็นที่ยืนยันว่าทรัมป์จริงจังกับนโยบายที่พูดมามากน้อยแค่ไหน หรืออาจเป็นเพียงโวหารเพื่อเรียกคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่านั้น

ไบเดนต่างจากทรัมป์ตรงที่การขึ้นภาษีจะมีความเจาะจงมากกว่า เพื่อปกป้องภาคอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น พลังงานทดแทน แร่ธาตุสำคัญ เซมิคอนดักเตอร์ เครื่องมือทางการแพทย์ และอื่น ๆ สังเกตได้จากการปรับขึ้นอัตราภาษีครั้งใหญ่เมื่อเดือนพฤษภาคม โจ ไบเดนขึ้นอัตราภาษีรถยนต์ไฟฟ้าขึ้น 4 เท่าเป็น 100% ทั้งยังเพิ่มอัตราภาษีเซมิคอนดักเตอร์และแผงโซลาร์เซลล์ขึ้น 2 เท่าเป็น 50%

นอกจากนี้ รัฐบาลไบเดนรับปากว่าจะจัดการกับช่องโหว่ทางภาษีในการที่จีนและประเทศอื่น ๆ อาจส่งสินค้าผ่านเม็กซิโกซึ่งมีข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐ เพื่อเป็นช่องทางเลี่ยงภาษีแทนการส่งออกจากต้นทางมายังสหรัฐโดยตรง ซึ่งทรัมป์ก็เคยพูดถึงการแก้ปัญหาเรื่องนี้ไว้เช่นกัน สำหรับคามาลา แฮร์ริส ต้องจับตาต่อไปว่าเธอจะสานต่อนโยบายดังกล่าวของไบเดนหรือไม่

ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจมองว่าคามาลา แฮร์ริสจะดำเนินนโยบายภาษีอย่างเจาะจงเช่นเดียวกับไบเดนต่อไป เมื่อพิจารณาจากการดีเบตเมื่อวันที่ 10 กันยายน แฮร์ริสโจมตีการขึ้นภาษีแบบเหมารวมของทรัมป์ว่าจะทำให้สินค้าแพงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ชนชั้นกลางในสหรัฐมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 4,000 ดอลลาร์ต่อปี (ราว 133,000 บาท)

2.ด้านเทคโนโลยีและความมั่นคงของชาติ 

ทั้งทรัมป์และไบเดนต่างพยายามจำกัดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ของจีน ซึ่งถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐ โดยทรัมป์มุ่งเน้นไปยังการป้องกันการถ่ายโอนเทคโนโลยีภายในประเทศ ขณะที่ไบเดนใช้มาตรการนอกประเทศมากกว่า

ในปี 2018 ทรัมป์ลดความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการกับจีน โดยเปิดตัวโครงการ ‘China Initiative’ เพื่อดำเนินคดีกับนักวิชาการและนักวิจัยชาวจีนที่ทำงานในสหรัฐ ซึ่งอาจถ่ายโอนเทคโนโลยีอันขัดต่อผลประโยชน์ของสหรัฐได้

ทรัมป์รับปากว่าจะออกกฎระเบียบใหม่ “ที่เข้มงวด” เพื่อจำกัดการเป็นเจ้าของในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เช่น พลังงาน เทคโนโลยี อุปกรณ์ทางการแพทย์ และโทรคมนาคม โดยกดดันให้บริษัทต่าง ๆ ของจีนต้องขายหุ้นที่ “คุกคามความมั่นคงของชาติและเศรษฐกิจของประเทศ”

ด้านไบเดนได้กำหนดข้อจำกัดในการส่งออกเทคโนโลยีสำคัญไปยังจีนเพื่อกีดกันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีน เช่น ห้ามขายเซมิคอนดักเตอร์ให้จีน เพื่อไม่ให้จีนสามารถพัฒนาแผงวงจรรวม และกดดันให้ชาติพันธมิตรอย่างญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ทำแบบเดียวกัน ซึ่งมีแนวโน้มสูงว่าคามาลา แฮร์ริสจะดำเนินนโยบายในทางเดียวกันนี้

3.ด้านภูมิรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ทางการทูต

ทางด้านทรัมป์ ไชน่า บรีฟฟิ่ง วิเคราะห์ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ความสัมพันธ์ทางการทูตในสมัยสองของทรัมป์จะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง นอกจากสงครามการค้าแล้ว ทรัมป์ยังเคยท้าทายการอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ของจีน และยังเรียกไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ว่าเป็น “ไวรัสจีน” อีกด้วย

จากดิอินเทอเพรตเตอร์ วิเคราะห์ว่า รัฐบาลไบเดน หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าโดยตรงกับจีน และเน้นผูกสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรแทน โดยเฉพาะญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และอินเดีย อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าไบเดนยังคงดำเนินความพยายามทางการทูตกับจีนเพื่อรักษาความสัมพันธ์ให้มั่นคงอยู่เสมอ จากการพบปะกันระหว่าง หวัง อี้ (Wang Yi) กรรมการกรมการเมือง คณะกรรมการกลางพรรคอมมิวนิสต์จีน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน และเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจวิเคราะห์เพิ่มเติมว่า เรื่องหนึ่งที่จีนอาจจะชอบทรัมป์มากกว่าแฮร์ริสก็คือ เรื่องไต้หวัน เพราะว่าทรัมป์ไม่น่าจะมีสัมพันธ์ฉันมิตรที่ใกล้ชิดกับไต้หวันเท่าประธานาธิบดีจากเดโมแครต เห็นได้จากที่ทรัมป์ให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า ไต้หวันควรจ่ายค่าปกป้องดินแดนให้สหรัฐ เพราะที่ผ่านมาสหรัฐเป็นเหมือนบริษัทประกันภัยที่คอยปกป้องไต้หวันโดยไม่เคยได้อะไรจากไต้หวันเลย ทั้งยังกล่าวว่าไต้หวันพรากเอาธุรกิจชิปไปจากสหรัฐด้วย

ข้อมูล/ภาพ : ประชาชาติธุรกิจ

ตำรวจไซเบอร์บุกจับกุมเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้โอนเงิน

การเมืองวนลูป ประเทศถอยหลัง