SCG ส่ง ONNEX เร่งเครื่องตลาดโซลาร์ วางเป้า 5 ปี ขยายกำลังผลิต 1,000 MW

ONNEX by SCG Smart Living เปิดบ้านโชว์ศักยภาพส่งแผนรุกตลาดโซลาร์ผ่าน “EPC+” BUSINESS MODEL เดินเครื่องผลิตพลังงานสะอาดแล้วกว่า 200 เมกะวัตต์ ตอบโจทย์พันธมิตรและนักลงทุน ตั้งเป้า 5 ปี ปั้นธุรกิจขยายกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่ม 1,000 เมกะวัตต์

วันที่ 10 ตุลาคม 2567 นายวชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Living Solution Business ธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ่ง กล่าวว่า ONNEX by SCG Smart Living เน้นนวัตกรรมและบริการด้านระบบโซลาร์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2011 โดยเริ่มต้นจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เองภายในโรงงานต่างๆ ทำให้สามารถประหยัดพลังงานได้มากสุดถึง 40% ด้วยประสบการณ์ที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งที่ผ่านมาสามารถผลิตพลังงานสะอาดไปแล้วกว่า 200 เมกะวัตต์ (MWp)

จึงมีความพร้อมและมีประสบการณ์ในการติดตั้งระบบโซลาร์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ครบทุกรูปแบบ (Solar Roof, Solar Floating, Solar Farm และ Solar Carport) ที่จะตอบรับความต้องการและความนิยมในตลาดโซลาร์ซึ่งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตสูงมาก เนื่องจากการติดตั้งระบบโซลาร์ในปัจจุบันนั้นมีราคาที่ถูกลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้ายังคงมีราคาสูง

ฟาร์มโซลาร์ต้นแบบ

สำหรับโซลาร์ฟาร์มต้นแบบของ ONNEX by SCG Smart Living ตั้งอยู่ที่โรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อ.หนองแค จ.สระบุรี บนพื้นที่ขนาด 47.5 ไร่ โดยเป็นโซลาร์ฟาร์มที่นำเสนอแพลตฟอร์มการบริหารจัดการพลังงานโรงไฟฟ้าเสมือนจริง (Virtual Power Plant) ภายใต้แนวคิด Smart Utilization – Smart Investment – Smart Flexibility และ Smart Monitoring ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถรับรู้ปริมาณการผลิตโซลาร์และการนำพลังงานสะอาดไปใช้อย่างเหมาะสม

ซึ่งถือเป็นโซลาร์ฟาร์มต้นแบบที่มีความสำคัญอย่างมากในการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในโรงงานต่างๆ ในพื้นที่ โดยในส่วนของอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ที่ทาง ONNEX by SCG Smart Living เคย Develop ได้สูงสุดจะอยู่ที่ IRR 34% และระยะเวลาคืนทุนภายใน 3 ปี

อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวโน้มตลาดที่เปลี่ยนไป ทั้งด้วยนโยบายจากภาครัฐและจากความต้องการของลูกค้าในการใช้พลังงานสะอาด อีกทั้งในระยะหลังมีนักลงทุนที่สนใจลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดมากขึ้นจากผลตอบแทนการลงทุนที่ดีและมีความผันผวนต่ำในระยะยาว ทาง ONNEX by SCG Smart Living ได้จัดให้มีบริการ EPC (Engineering Procurement and Construction) ทั้งด้านการออกแบบทางวิศวกรรม การขออนุญาตโครงการ รวมถึงการติดตั้งโครงสร้างระบบแบบครบวงจร

เดินแผนธุรกิจ EPC+

นายวชิระชัยกล่าวต่อไปว่า เพื่อขยายตลาดให้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง จึงได้เตรียมกลยุทธ์ EPC+ Business Model ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับผู้เกี่ยวข้องแต่ละกลุ่มในระบบโซลาร์ ที่จะช่วยสร้าง ecosystem ให้แข็งแกร่งเพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจโซลาร์ให้สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งกลุ่มธุรกิจ ผู้ประกอบการ และนักลงทุน ส่งผลดีให้กับกลุ่มผู้บริโภค เพื่อลดภาวะโลกร้อนและสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ประกอบด้วย

• EPC+F (Finance) เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเปลี่ยนระบบไฟฟ้าพื้นฐานมาติดตั้งระบบโซลาร์ นอกจากธุรกิจจะได้ใช้พลังงานสะอาดแล้ว ผู้ประกอบการยังได้ประโยชน์จากส่วนลดค่าไฟสูงสุดถึง 40% ซึ่งแผน EPC+F นี้ ทางผู้ประกอบการไม่ต้องลงทุนเอง แต่ทาง ONNEX จะดำเนินการหาผู้ลงทุนให้

• EPC+D (Project Development) เหมาะสำหรับนักลงทุน ที่เป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ สถาบัน กองทุน ที่สนใจลงทุนในโครงการโซลาร์ แต่ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีทีมงานจัดทำโครงการ หรือไม่สามารถหาโครงการที่เหมาะสมได้ ทาง ONNEX จะทำหน้าที่คัดสรรโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายการลงทุน ขนาดโครงการ ความเสี่ยงและผลตอบแทนที่มีผลประโยชน์สูงสุดให้กับผู้ลงทุน

• EPC+ O&M (Operations & Maintenance) เหมาะสำหรับเจ้าของโครงการที่ติดตั้งโซลาร์ในหลายโครงการ และเริ่มมีปัญหาในการบริหารจัดการแบบองค์รวม (Centralized monitoring & maintenance) ทาง ONNEX มีบริการตั้งแต่ Efficiency Audit, การทำ Centralized Dashboard ตลอดจนการดูแลระบบให้สามารถผลิตไฟได้ตามเป้าหมาย โดยมี Performance Warranty ในกรณีที่ลูกค้าต้องการ เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าไฟฟ้าที่ผลิตได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางแผนไว้

• EPC+Alliance รูปแบบความร่วมมือกับพันธมิตร EPC ด้วยกัน โดยมีแนวคิดที่จะช่วยให้ในกลุ่มพันธมิตรสามารถมีศักยภาพในการบริหารต้นทุนที่ดีที่สุดในระบบการจัดซื้อ (Cost effectiveness) โดยทาง ONNEX มีแผนงานเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาแผงและอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบโซลาร์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระยะยาว โดย EPC+Alliance ได้เริ่มดำเนินการและเปิดรับกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความสนใจร่วมกันอยู่ในขณะนี้

• EPC+Authorized Referral เหมาะสำหรับตัวแทนอิสระ ที่มีเครือข่ายลูกค้าที่มีศักยภาพในธุรกิจโซลาร์ สามารถเข้ามาเป็น Authorized Referral ได้ เพื่อร่วมธุรกิจและรับผลตอบแทนจากโครงการ

เป้า 5 ปี 1,000 MW

ปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ที่ระหว่างการดำเนินการ 400-500 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่เกือบทั้งหมด โดยตั้งเป้าภายในระยะเวลา 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ. 2567 ซึ่งเป้าหมายในปี 2567 นี้อยู่ที่ 60 เมกะวัตต์ และดำเนินการไปแล้ว 40-50 เมกะวัตต์ คาดว่า EPC+ Business Model จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งในระบบพลังงานโซลาร์รวมแล้วไม่น้อยกว่า 1,000 เมกะวัตต์ มุ่งขยายโครงการขนาดใหญ่สำหรับลูกค้านอก กลุ่ม SCG โดยเฉพาะ solar farm และ solar floating เป็นหลัก ซึ่งในช่วงปีแรกได้วางกลุ่มเป้าหมาย (target) เป็นบุคคลทั่วไปประมาณ 5-6 ราย และนิติบุคคลประมาณ 10 ราย

“เป้าหมาย 1,000 เมกะวัตต์ภายใน 4-5 ปีนี้ เรามองว่า ONNEX มีศักยภาพและความสามารถในการมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าวได้อย่างแน่นอนผ่านโมเดลหลัก ๆ อย่าง EPC+F และ EPC+D ถึง 80-90%” นายวชิระชัยกล่าว

ข้อมูล/ภาพ : ประชาชาติธุรกิจ

เงินเฟ้อสหรัฐเดือนกันยาฯ สูงกว่าคาด ทั้งทั่วไปและพื้นฐาน

บุกจับครีมปลอมแบรนด์ดังย่านบางแค สารภาพรับสินค้าจากจีน ขายออนไลน์