“เคนโด้-อี้” เปิดหลักฐานใหม่ จี้ดีเอสไอ สอบ “สามารถ” โยงเทวดาคนไหนบ้าง แฉรถอัลพาร์ด เป็นชื่อของบริษัทดัง ตั้งข้อสงสัยร่วมกันฟอกเงินหรือไม่
วันนี้ (2 ธ.ค.67) เวลา 10.00 น. ที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ นายเกรียงไกรมาศ พจนสุนทร หรือเคนโด้ และ นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ประธานชมรมสันติประชาธรรม แถลงข่าวขบวนการนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช เชื่อมโยงบริษัทเครือข่ายขายซิมดัง พร้อมเปิดหลักฐานใหม่ จี้ ดีเอสไอ ตรวจสอบที่มาของรถประจำตำแหน่ง เป็นชื่อของใคร เชื่อมโยงร่วมกันฟอกเงินหรือไม่

โดยดีเจเคนโด้ บอกว่า จากกรณีที่ ดีเอสไอ ได้ตรวจยึดรถนายสามารถ อัลพาร์ด สีดำ แต่เมื่อตนเองได้ตรวจสอบทะเบียนรถ พบว่า ทะเบียนรถไม่ใช่รถของนายสามารถ เป็นรถของ บริษัทหนึ่ง ซึ่งเป็นบริษัท จำหน่ายซิม และตู้เติมเงิน ซึ่งขณะนี้กำลังมีดรามาว่า เป็นการดำเนินธุรกิจแบบใด เพราะเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังจากกสทช. มีการเตือนแล้วว่า ห้ามนำซิม มาทำเป็นระบบ MLM จึงตั้งข้อสงสัยว่า ใช่บริษัทดังกล่าว หรือไม่
ขณะเดียวกันก็ตั้งข้อสังเกตว่านายสามารถ เข้าไปเกี่ยวพันกับบริษัทคล้ายบริษัทแชร์ลูกโซ่หรือไม่ หรือเป็นบริษัทที่มีการให้คนไประดมทุนหรือไม่ จึงอยากให้ดีเอสไอ เข้าไปตรวจสอบบริษัทนี้อย่างจริงจัง
เพราะทะเบียนรถไม่ใช่ชื่อของนายสามารถ จึงตั้งข้อสังเกตว่าเป็นรถประจำตำแหน่ง ให้นายสามารถ หรือไม่ ซึ่งถือว่ามีความผิดปกติเป็นอย่างมาก และอยากเรียกร้องให้ ดีเอสไอ ตรวจสอบรถคันอื่นด้วย รวมทั้ง ตรวจสอบบริษัทดังกล่าวว่าเกี่ยวข้อง กับนายสามารถ ในประเด็นไหนบ้าง พร้อมกับอยากให้บริษัทดังกล่าวชี้แจงว่า มีแผนการจ่ายแบบ 300% หรือไม่ และมีการให้ลงทุนจนถึง 5 ล้านบาทจริงหรือไม่ มีค่าแนะนำ ที่ให้อย่างมหาศาลจริงหรือไม่ และมีการใช้แผน binary ขาซ้ายขาขวาหรือไม่ จึงอยากให้ดีเอสไอ เข้าไปตรวจสอบด้วย
ดีเจเคนโด้ ยืนยันว่า ไม่ได้ปรักปรำบริษัทดังกล่าว แต่หากมีเรื่องต้องสงสัย ก็อยากจะให้ มีการตรวจสอบ และชี้แจง วาเกี่ยว ข้องกับนายสามารถหรือไม่ และนายสามารถ นำรถมาใช้ได้อย่างไร พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่ามีการร่วมกันฟอกเงินหรือไม่
ขณะเดียวกันดีเจเคนโด้ ยังบอกว่า หากมีการตรวจสอบในเชิงลึกจะพบว่ามีคนดังเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย มีดารา มีคนดังไปทำการตลาดให้
ขณะที่นายแทนคุณ บอกว่า จากการตรวจสอบบริษัทดังกล่าวพบว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับนายสามารถ นางสาวกฤษณ์อนงค์ และฟิล์มรั ฐภูมิ โดยช่วงเวลาที่เกิดขึ้นของบริษัทดังกล่าว ประมาณ 6 ปีที่แล้ว หรือประมาณปี 2561 และเป็นช่วงเวลาที่ นายสามารถ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงยุติธรรม มีการเดินทางไปต่างประเทศ ตกลงเจรจาด้วยกันหลายครั้ง
ทั้งนี้หากมีความเกี่ยวข้องกรณีที่มีตำแหน่งทางการเมือง ก็อาจจะเชื่อมโยงไปสู่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่สูงกว่าด้วยหรือไม่ ซึ่งก็อาจจะหมายรวมถึงเทวดา ที่มีการพูดถึงกันมาโดยตลอดด้วยหรือไม่ เพราะว่าการกระทำดังกล่าว มีลักษณะพฤติการณ์อยู่ 3 อย่าง อย่างแรกคือ การอ้างผู้หลักผู้ใหญ่อ้างการวิ่งเต้นเส้นสาย อ้างว่าเป็นผู้ที่มีเทวดาคุ้มครองอยู่

อย่างที่สอง คือ ต้องจ่ายเงินหรือค่าดูแล หรือจ่ายส่วย หรือ หา เงินไปเส้นเทวดาก็จะต้องไปเช็กต่อว่าเกี่ยวข้องอย่างไร
อย่างที่สาม คือ พฤติกรรมมักจะแสวงหา โดยใช้ข้อมูลจากการที่มีผู้เสียหายมาร้องเรียนแสวงหาผลประโยชน์ เช่นมาร้องเรียนให้ช่วยเหลือ เขาก็จะได้ข้อมูล ว่าควรจะไปคุยเจรจากับใคร ทั้งผู้ที่กระทำความผิด หรือผู้ที่อาจจะยังสับสนหรือสงสัย ว่าตัวเองผิดหรือไม่ แต่เมื่อมีการเรียกร้องหรือมาจี้ ก็ทำให้ต้องจ่ายและดูแลกันไป ซึ่งก็มีตั้งแต่ดูแลเป็นรายเดือน หลักหมื่นถึงหลักแสน และหลายเจ้าในช่วงเวลาดังกล่าว และยังมีการเรียกยิบย่อยระหว่างทาง เช่นขอค่าทำบุญ ซึ่งอาจจะสอดคล้องกับที่แม่นายสามารถ พูดไว้ตลอดเวลาด้วยหรือไม่ว่า เป็นเงินทำบุญ
ขณะที่ นายหน่อง ผู้เสียหาย บอกว่า พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้ให้สัมภาณ์เกี่ยวกับเส้นเงิน 100 ล้านบาท และจากการตรวสอบพบว่ามีเส้นเงินของตนเองโอนเข้าไปทุกเดือน เดือนละ 3 หมื่นบาท นั้น
นายหน่อง บอกว่า เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2566 ท่าน ส. ได้ส่งเชิญชวนมาทำบุญวันเกิด ตนเองจึงโอนไป 10,000 บาท หลังจากนั้นเดือนพฤษภาคม ได้ส่งโบชัวร์สินค้า ที่ตนเองทำอยู่เกี่ยวกับปุ๋ย อ้างว่ามีคนร้องเรียนว่าตนเอง เอาตัวปรับปรุงดินมาขายเป็นปุ๋ย ซึ่งตนเองก็ได้อธิบายไป ยืนยันว่าทำถูกต้องทุกอย่าง แต่ท่านส. ก็บอกว่าขอค่าดูแล เดือนละ 50,000 บาท ตนเองจึงอธิบายว่าไม่ผิด เป็นตัวแทน ขายประจำหมู่บ้านประจำอำเภอ ไม่ได้ขายตรง แต่ท่านส.ก็ยังไม่ยอม ยืนยันจะขอค่าดูแลให้ได้ ซึ่งตนเองก็ได้ต่อรองเหลือ 20,000 บาท แต่สุดท้ายก็จบที่ 30,000 บาทต่อเดือน
โดยเริ่มจ่ายเดือนแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 และจ่ายมาเรื่อยๆ จนถึง เดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งท่านส. มีการทวงถามทุกเดือน ซ้ำยังมีการขอเงินทำบุญต่างหากอีก

ข้อมูล/ภาพ : อมรินทร์