กรุงเทพฯ 1 เมษายน 2568 – สำนักงาน กสทช. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ร่าง) หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล รอบที่ 2 หลังจากจัดประชาพิจารณ์ครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ครอบคลุมการประมูลคลื่นความถี่ในย่าน 850, 1500, 1800, 2100, 2300 MHz และ 26 GHz โดยมีเสียงสะท้อนจากนักวิชาการ ภาคประชาชน และผู้ประกอบการโทรคมนาคมและทีวีดิจิทัลที่เสนอให้ประมูลคลื่นรวมทุกย่านเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน และเน้นย้ำความสำคัญของคลื่น 3500 MHz ต่ออนาคตเศรษฐกิจดิจิทัลไทย
นักวิชาการเสนอรวมการประมูลทุกย่านคลื่น เสริมการวางแผนและคุ้มค่า
ดร.ไพโรจน์ ไววานิชกิจ นักวิชาการด้านโทรคมนาคม เห็นว่าการจัดสรรคลื่น 2100 MHz ทั้งผืนในคราวเดียวจะช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถวางแผนใช้งานได้ล่วงหน้า ใช้คลื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มมูลค่าของคลื่นที่ถูกประมูลมากกว่าการแบ่งประมูลแยกส่วน นอกจากนี้เสนอให้แยกคลื่นที่หมดอายุปี 2568 และ 2570 ออกเป็นคนละกลุ่มเพื่อสอดคล้องกับช่วงเวลาใช้งานที่แตกต่างกัน
ผศ.ดร.ชูชาติ เตชะโพธิวรคุณ นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าการประมูลแยกจะเพิ่มต้นทุนในการจัดประมูลอีกครั้งโดยไม่จำเป็น ทั้งยังเสี่ยงให้มูลค่าคลื่นลดลงเนื่องจากบริบททางเศรษฐกิจในอนาคตอาจเปลี่ยนไป การจัดประมูลพร้อมกันจึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมและคุ้มค่าในระยะยาว
ภาคประชาชนกังวลราคาคลื่นสูงเกินจริง เสนอแนวทางใหม่ในการจัดสรร
นราพล ปลายเนตร ตัวแทนภาคประชาชน เตือนว่าการกำหนดราคาขั้นต่ำของคลื่นความถี่สูงเกินจริงจะส่งผลกระทบต่อค่าบริการโทรคมนาคมและอาจกลายเป็นภาระของผู้บริโภคในอนาคต หากต้นทุนสูง ผู้ให้บริการอาจผลักภาระต้นทุนไปยังผู้ใช้งานโดยตรง
นายปริวุฒิ บุตรดี อีกหนึ่งตัวแทนภาคประชาชน เสนอให้ กสทช. พิจารณาใช้วิธีจัดสรรคลื่นที่หลากหลายมากกว่าการประมูลเท่านั้น เช่น การใช้ระบบประกวดผลตอบแทน (Beauty Contest) ที่พิจารณาทั้งด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม การเข้าถึงบริการของกลุ่มเปราะบาง และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่รัฐจะได้รับ
เสนอคงหลักเกณฑ์การชำระ 3 งวด รัฐได้เงินเร็ว ลดความเสี่ยง
ผศ.ดร.ชูชาติ ย้ำว่า กสทช. ควรยึดหลักการชำระเงินแบบ 3 งวด โดยเฉพาะงวดแรกที่จ่าย 50% เพื่อให้รัฐได้เงินเร็วและมั่นคง อีกทั้งยังช่วยคัดกรองผู้เข้าร่วมประมูลให้เหลือเฉพาะรายที่มีศักยภาพทางการเงิน ลดโอกาสที่ใบอนุญาตจะถูกทิ้งในอนาคต
พร้อมเตือนว่า หากเปลี่ยนเป็นผ่อน 10 งวด งวดละ 10% อาจเปิดช่องให้บางรายเข้ามาประมูลโดยมีวัตถุประสงค์อื่น ไม่ได้มุ่งใช้งานคลื่นจริง ซึ่งเป็นปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต
3500 MHz คือหัวใจของ 5G นักวิชาการชี้ต้องเร่งวางแผนใช้จริง
ดร.ไพโรจน์ ชี้ว่า คลื่น 3500 MHz เป็นคลื่นมาตรฐานที่ใช้งานในระบบ 5G ทั่วโลก แต่ประเทศไทยยังไม่มีการใช้คลื่นนี้ในกิจการโทรคมนาคม ส่งผลให้ศักยภาพการพัฒนาโครงข่ายของประเทศยังตามหลัง หากมีการวางแผนใช้งานคลื่นนี้ จะสามารถยกระดับความเร็วเครือข่ายได้สูงกว่า 2 Gbps และเปิดทางสู่ 5.5G
วรศิริ ผลเจริญ ให้ความเห็นว่า การใช้งาน 5G บนคลื่น 3500 MHz จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องเกิดการพัฒนานวัตกรรม เช่น ระบบรถไร้คนขับ AR/VR โทรเวชกรรม ระบบเหมืองอัตโนมัติ และระบบเซนเซอร์เตือนภัยต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนและประเทศ
กรวุฒิ อาศนะ เสริมว่า คลื่น 3500 MHz ได้รับการใช้งานโดยผู้ให้บริการกว่า 80% ทั่วโลก และมีอุปกรณ์รองรับมากที่สุดในกลุ่มคลื่น 5G จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยไม่ควรปล่อยผ่าน
ภาคทีวีดิจิทัลเห็นพ้อง ใช้คลื่น 3500 MHz ร่วมกันได้ หากมีมาตรการรองรับ
ประเมนทร์ ภักดิ์วาปี อดีตผู้บริหารทีวีดิจิทัล เห็นว่าการใช้คลื่น 3500 MHz ร่วมกันระหว่างกิจการโทรคมนาคมและทีวีที่ใช้ C-Band จะเป็นประโยชน์กับประเทศ หากมีการวางแผนแก้ไขปัญหาสัญญาณรบกวนอย่างเป็นระบบ เช่น การติดตั้งอุปกรณ์กรองสัญญาณตามบ้านเรือนรอบสถานีฐานในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างปี 2568–2572
พีระพัฒ เอกวิทยาสกุล ตัวแทนจากทีวีดิจิทัล เห็นว่าคลื่นนี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง และควรนำมาประมูลในช่วงเวลานี้ ก่อนจะสายเกินไป เพราะหากผ่านพ้นปี 2572 อาจไม่มีมาตรการรองรับผลกระทบจากการใช้คลื่นในอนาคตได้ทันเวลา
ทั้งนี้ หลังการรับฟังความคิดเห็นแล้ว สำนักงาน กสทช. จะนำข้อมูลทั้งหมดมารวบรวมเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการฯ และคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะต้องเลื่อนวันประมูลออกไปจากกำหนดเดิมวันที่ 17–18 พฤษภาคม 2568 ไปเป็นช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายนแทน
