รู้ว่าเสี่ยง แต่คงต้องขอลอง
ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ยิ่งลงทุนในเกมอำนาจ ความเสี่ยงยิ่งสูง
เป็นคนกล้าคิด-กล้าทำ กล้าได้-กล้าเสีย มาตั้งแต่ช่วงบุกเบิกธุรกิจ วันนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร เมินเสียงจิ้งจกทัก ไม่ให้ราคากลุ่มต้านขู่เล่นงานฐานครอบงำ
ลัดคิวร้อนเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารเย็นกระชับความสัมพันธ์พรรคร่วมรัฐบาล ที่พรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าภาพจัด และถือเป็นครั้งแรกของรัฐบาลน.ส.แพทองธาร ชินวัตร ด้วย ภายใต้ชื่องาน“Pheu Thai Praty (พรรคเพื่อไทย) สามัคคีประเทศ ปกป้องอธิปไตย แก้ปัญหาเพื่อประชาชน”
ถอดรหัสเลคเชอร์ “นายใหญ่” ที่บรรยาพิเศษในช่วงดินเนอร์ทอล์ก ตีโจทย์เสถียรภาพรัฐบาลนี้ ยกประสบการณ์ชีวิตเมื่อ 51 ปีในอดีต กับการควบคุมเสียง สส.ด้วยตัวเอง ตอนมาช่วยราชการอยู่กับ ปรีดา พัฒนถาบุตร รมต.ประจำสำนักนายกฯ ที่สวมบทบาทวิปรัฐบาลอีกตำแหน่ง สมัยรัฐบาลม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกฯ
บรรยากาศเดียวกันเป๊ะ พรรคร่วมรัฐบาลประกอบด้วยหลายพรรค เหมือนจับปูใส่กระด้งไม่ต่างจากตอนนี้ “ทักษิณ” สมัยนั้นต้องไปปักหลักอยู่ที่สภา ไล่ตามหัวหน้าพรรคร่วม จัดทำบัญชี(ละไว้ในฐานที่เข้าใจ) ให้สส.อยู่คอยโหวตกฎหมาย และวาระสำคัญๆ
ยกสูตรเลขคณิต สมัยนั้นมีรัฐมนตรี 48-49 คน รัฐมนตรี 1 คน ดูแล สส. 4 คน ดูแลกันได้อบอุ่น ถ้าวันนี้แต่ละพรรคแบ่งรัฐมนตรีให้ความอบอุ่นแก่สส. ก็จะมั่นคง เพราะถ้าไม่ดูแลก็โดนตีท้ายครัว วันนี้มีพวกชอบตีท้ายครัวอยู่
อดีตนายกทักษิณ มองข้ามชอตไปไกลถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า กำชับกับหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (แพทองธาร ชินวัตร) ว่าทีม(พรรคร่วมรัฐบาล)ชุดนี้แหละ หลังเลือกตั้งรอบหน้าแล้วจะเป็นเพื่อนร่วมงานกันอีกครั้ง
“นายใหญ่”ทิ้งท้ายด้วยความซาบซึ้ง “เมื่อไม่ทิ้งกันขนาดนี้ ก็ไม่ทิ้งกันตลอดไป”
สมการเสียงจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งรอบหน้า “ทักษิณ”ยังคงจับมือมัดข้าวต้ม 11 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม อย่าง รวมไทยสร้างชาติ, ประชาธิปัตย์, กล้าธรรม, ชาติไทยพัฒนา, ประชาชาติ, ชาติพัฒนา รวมไปถึงพรรคเล็กพรรคน้อย ที่จับมือเป็นแนวร่วมกันในตอนนี้
ขีดเส้นใต้เอาไว้ ภูมิใจไทย อยู่นอกสมการ “นายใหญ่”
เท่ากับว่า “ทักษิณ” มองสถานการณ์ตามความเป็นจริง เสถียรภาพรัฐบาลตอนนี้ง่อนแง่นเต็มที
ไม่เหมือนกับสปีชที่พูดบนเวที พรรคร่วมรัฐบาล็ยังเป็นปึกแผ่นแข็งแรงดี พบปะหัวหน้าพรรคทุกคนยืนยันว่าเราจะไปด้วยกัน

ก่อนจะถึงดีเดย์ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้ชะตา นายกฯแพทองธาร ในคดีคลิปเสียงมรณะ อะไรก็เกิดขึ้นได้
เพราะคู่ชิงอำนาจตัวจริงเสียงจริงในสมัยหน้า ก็เริ่มจัดวางขุมกำลัง แผ่ขยายเครือข่ายเข้าไปรอกินรวบองค์กรอิสระ
เมื่อสว.สีน้ำเงิน ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม ลุยถั่วลงมติเลือกบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
เป็นไปตามโผเป๊ะ ๆ ที่นักข่าวรายงานเอาไว้ก่อนหน้านี้
ปฏิบัติการฝักถั่วสีน้ำเงิน ชูกันสลอน กดโหวตรับรอง สราวุธ ทรงศิวิไล อดีตอธิบดีกรมทางหลวง เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่
ตีตกรายชื่อ สุธรรม เชื้อประกอบกิจ อาจารย์รัฐประศาสนศาสตร์ ม.มหิดล
ยุคใคร-ยุคมัน ทีใคร-ทีมัน แบบที่ “เสี่ยหนู”อนุทิน ชาญวีรกูล ผู้นำขั้วน้ำเงิน ว่าเอาไว้
และที่ประชุมวุฒิสภา ยังโหวตด้วยเสียงท่วมท้น ให้ ณรงค์ กลั่นวารินทร์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นกกต.คนใหม่
ยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง สภาสูงเคยถูกขนานนาม สภาผัว-เมีย
มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ปี 40 ในการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ แต่ยังไงก็มีที่มาที่ไปเชื่อมโยงกับอำนาจของประชาชน เพราะต้องผ่านการเลือกตั้ง ผ่านฉันทามติจากประชาชนมาแล้ว
แต่ ณ วันนี้ ด้วยอิทธิฤทธิ์รัฐธรรมนูญฉบับซือแป๋ ลดทอนอำนาจประชาชน ส่งผลให้ แก๊งฮั้ว เข้ามากำหนดชะตาอนาคตของประเทศได้
ขยายอำนาจแทรกแซงเข้าไปในหน่วยงานตรวจสอบ อันมีผลเป็นการให้คุณให้โทษได้
และคดีความการเมือง ที่มีผลต่อการแย่ชิงอำนาจ รอคิวชำระสะสางเป็นหางว่าว
ประเทศไทย เราจะอยู่กันแบบนี้จริงๆ เหรอ..?