ที่ประชุม สส. มติเอกฉันท์ ไม่เห็นด้วย สว.เกณฑ์ประชามติ 2 ชั้น

ที่ประชุม สส.มีมติเอกฉันท์ ไม่เห็นด้วย สว.ปมประชามติ 2 ชั้น ตั้งกรรมาธิการร่วม 28 คน

วันที่ 9 ตุลาคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชรษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) มีการแก้ไขเพิ่มเติม และส่งกลับคืนมายังสภาผู้แทนราษฎร โดยมีการแก้ไขเกณฑ์ เสียงข้างมากเป็น 2 ชั้น (Double Majority) ว่าจะเห็นชอบตามที่ สว.แก้ไขมาหรือไม่

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้อภิปรายว่า เห็นแย้งกับการแก้ไขของวุฒิสภา และยืนยันให้คงร่างเดิมที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติไปแล้ว ซึ่งระบุว่า โดยทั่วไปแล้วเป็นเรื่องปกติที่สภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภาจะมีมุมมองที่ต่างกันบ้างในบางเรื่อง แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อย้อนไปดูบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภาจะพบอาการกลับไปกลับมาของคณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา

สำหรับตนแล้ว ได้ยืนยันมาตลอดว่า เหตุผลที่เสนอให้ตัดเกณฑ์ชั้นบนออก ไม่ใช่เพื่อทำให้ประชามติผ่านง่ายขึ้น แต่เพื่อให้ประชามติมีกติกาที่เป็นธรรมมากขึ้น แม้เกณฑ์ชั้นบนจะเริ่มต้นจากเจตนาที่ดี แต่การกำหนดเกณฑ์ชั้นบนว่า ประชามติจะมีผลก็ต่อเมื่อผู้ที่ออกมาใช้สิทธิมีมากกว่า 50% ของผู้มีสิทธิ จะส่งผลให้ฝ่ายที่ไม่อยากเห็นประชามติผ่านมีความได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรม เพราะเป็นการเปิดช่องให้ฝ่ายที่ไม่อยากเห็นประชามติผ่านมีแรงจูงใจในการไม่ออกมาลงคะแนนอย่างตรงไปตรงมา และเลือกนอนอยู่บ้านเพื่อกดจำนวนผู้ออกไปใช้สิทธิลง

จากเหตุการณ์จริงเมื่อปี 2559 ที่มีการลงประชามติว่า จะเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ แม้กติกาที่ใช้สำหรับประชามติวันนั้นคือ กติกาเสียงข้างมาก 1 ชั้น แต่หากวันนั้นเราใช้กติกาเสียงข้างมาก 2 ชั้น คำถามที่น่าสนใจคือผลจะออกมาเป็นอย่างไร เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สว. ท่านหนึ่งอภิปรายไว้ว่า หากใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ประชามติก็จะยังคงผ่านอยู่ดี เพราะจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง 50.1 ล้านคน มีผู้ออกมาใช้สิทธิ 29.7 ล้านคน คิดเป็น 59% และเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง โดยจากจำนวนคนออกมาใช้สิทธิ 29.7 ล้านคน มีผู้ลงคะแนนเห็นชอบ 16.8 ล้านคน คิดเป็น 57% และเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ

แต่หากวันนั้นมีการใช้กติกาเสียงข้างมาก 2 ชั้นจริง พฤติกรรมของผู้ลงคะแนนเสียงอาจไม่เป็นเช่นนี้ เพราะประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ย่อมรู้ดีว่า หากประชาชนออกมาใช้สิทธิไม่ถึง 25 ล้านคนก็จะสามารถคว่ำประชามติได้ ดังนั้นแทนที่คน 10.6 ล้านคนจะออกมาใช้สิทธิและลงคะแนนไม่เห็นด้วยอย่างตรงไปตรงมา พวกเขาอาจจะเลือกใช้วิธีไม่ออกไปใช้สิทธิและนอนอยู่บ้านอย่างพร้อมเพียงกันเพื่อกดจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิให้เหลือเพียงแค่ไม่ถึง 20 ล้านคน ซึ่งจะทำให้ประชามติและรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกคว่ำได้สำเร็จ

“ยืนยันว่า สภาแห่งนี้ควรจะยืนยันหลักการของการหันมาใช้กติกาแบบเสียงข้างมาก 1 ชั้น ไม่ใช่เพื่อจะทำให้ประชามติผ่านง่ายขึ้น แต่เพื่อให้กติกาสำหรับการทำประชามติในทุก ๆ เรื่องที่มีความเป็นธรรมระหว่างฝ่ายที่อยากเห็นประชามติผ่านกับฝ่ายที่ไม่อยากเห็นประชามติผ่าน จะเป็นกติกาประชามติที่ไม่เปิดช่องให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์จากการรณรงค์ให้คนไม่ออกมาใช้สิทธิ แต่เป็นกติกาประชามติที่ทำให้ทุกฝ่ายมีแรงจูงใจในการรณรงค์เชิงความคิดและเชิญชวนคนที่คิดคล้าย ๆ กันให้ออกมาลงคะแนนเสียงให้เยอะที่สุด เพื่อให้สังคมใช้คูหาประชามติเป็นช่องทางในการหาข้อสรุปร่วมกัน ว่าสังคมนั้นจะเดินไปในทิศทางไหน” นายพริษฐ์กล่าว

ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปราย การกำหนดว่าผู้มาใช้สิทธิ์ต้องเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ เป็นการกำหนดเพื่อให้มีผลเท่ากับว่าคนไม่มาออกเสียงและคนไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญกลายเป็นฝ่ายเดียวกัน ทั้งที่จริงคนไม่ออกมาออกเสียงซึ่งธรรมดาแล้วจะต้องถือว่าเขาไม่ให้ความสนใจ จะบอกว่าเขาเห็นด้วยก็ไม่ใช่ หรือจะบอกว่าเขาไม่เห็นด้วยก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นเสียงของผู้ไม่มาออกเสียงจึงไม่ควรนับ

“ถ้ากำหนดให้ผู้มาใช้สิทธิ์ต้องเกินกึ่งหนึ่ง มันก็จะเกิดเหตุการณ์ที่ผู้ไม่เห็นด้วยก็ใช้วิธีนอนอยู่กับบ้าน ยกตัวอย่างเช่น ผู้ไม่มาออกเสียงมีซัก 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ ผู้ไม่เห็นด้วยอีก 20 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ก็กลายเป็น 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ที่ไม่มาออกเสียง คนที่เป็นเสียงข้างมากจริงๆ กลายเป็นมาออกเสียงไม่ถึงครึ่งหนึ่ง กลายเป็นเสียงข้างน้อยไป เนื่องจากเราไปให้ผู้ที่ไม่มาออกเสียงเป็นฝ่ายเดียวกันกับผู้ที่ไม่เห็นด้วย”

ทั้งนี้การทำประชามติรัฐธรรมนูญร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ครั้ง คือปี 2550 และปี 2560 กำหนดไว้ว่าให้ใช้เสียงข้างมากเป็นอันผ่านประชามติ เมื่้อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องไปทำประชามติ โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าจะต้องไปทำประชามติโดยมีเสียงข้างมากกี่ชั้น เมื่อไม่ได้กำหนดอย่างนี้ สิ่งที่ควรจะเป็นหลักการของการกำหนดการออกเสียงประชามติคือต้องย้อนไปดูว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นตัวแม่คือร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันปี 2560 นี้ ตอนทำประชามติใช้หลักเกณฑ์อย่างไร ก็ไม่ควรใช้หลักเกณฑ์ต่างกัน ทั้งไม่ควรทำให้ง่ายขึ้นหรือยากขึ้น

“การใช้เสียงข้างมากเพียงชั้นเดียว กำหนดอย่างนี้คนถึงจะมาลงประชามติกันมากๆ แต่ถ้าไปกำหนดกติกาหลักเกณฑ์จำนวนของผู้มาใช้สิทธิ์เมื่อไหร่ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยจะนอนอยู่กับบ้านเพื่อได้คะแนนร่วมกับผู้ไม่ออกเสียง อันนั้นแหละจะเป็นปัญหาที่ทำให้การทำประชามติมีคนมาออกเสียงน้อยมาก”

สภาผู้แทนราษฎรจำเป็นต้องยืนยันมติของตนเองที่สภาผู้แทนเคยลงประชามติไปอย่างเป็นเอกฉันท์ว่าไม่ให้ใช้หลักการเสียงข้างมาก 2 ชั้น แต่ใช้เสียงข้างมากเพียงชั้นเดียว โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเสียเวลาในการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะถ้าหากว่าเห็นชอบตามวุฒิสภาไปอาจจะเร็ว แต่นั่นคือการปิดประตูตอกฝาโลงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะเป็นปัญหาใหญ่หลวงมากสำหรับประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเสียงข้างมาก 348 ต่อ 0 ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าวที่วุฒิสภาแก้มา และงดออกเสียง 65 เสียง จากนั้นได้ตั้ง กมธ.ร่วม จำนวน 28 คน โดยสัดส่วน สส.14 คน

ประกอบด้วย พรรคประชาชน 4 คือ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ นายปกป้อง จันวิทย์ จาก The 101 นายณัชปกร นามเมือง จากไอลอว์

พรรคเพื่อไทย 4 คน ประกอบด้วย ประยุทธิ ศิริพาณิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ จาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ นายกฤช เอื้อวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (น.ส.จิราพร สินธุไพร)

พรรคภูมิใจไทย (ภท.) จำนวน 2 คน ได้แก่ 1.นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง และ 2.นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ นอกจากนี้ ยังมีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นายวิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ว่าที่ร.ท.ยุทธการ รัตนมาศ สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา

ข้อมูล/ภาพ : ประชาชาติธุรกิจ

กรมทรัพยากรธรณีแจ้งเตือน 14 จังหวัด ระวังแผ่นดินถล่ม 9-11 ต.ค. 67

มหกรรมหนังสือเริ่มแล้ว รัฐมนตรีสุดาวรรณ ชี้ การอ่านเป็นต้นทางและแรงบันดาลใจ