เตรียมตรวจสอบสาเหตุ พร้อมเสนอแนวทางป้องกัน
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของรัฐสภา และประธานคณะอนุกรรมการด้านประสานงานบริหารจัดการรณรงค์และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุ แถลงแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ รถบัสศึกษาดูงานของเทศบาลบึงกาฬ พลิกคว่ำบนถนนสาย 304 บริเวณเขาศาลปู่โทน ตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความสูญเสียเป็นวงกว้างและทำให้คณะกรรมการให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นอุบัติเหตุของ รถโดยสารไม่ประจำทางหมวด 30 ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเกิดเหตุลักษณะคล้ายกัน เช่น กรณี ไฟไหม้รถบัสนักเรียนจากจังหวัดอุทัยธานี บนถนนวิภาวดีรังสิต ส่งผลให้มีการศึกษาแนวทางป้องกันและเสนอนโยบายต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัย
คณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและยานพาหนะ ซึ่งมี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตสมาชิกวุฒิสภา เป็นประธาน เตรียมนำกรณีนี้เข้าพิจารณาในที่ประชุมวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อวิเคราะห์สาเหตุของอุบัติเหตุ โดยจะพิจารณาปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ตัวผู้ขับขี่ สภาพรถ และความปลอดภัยของเส้นทางคมนาคม ก่อนสรุปข้อเสนอแนะเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่
ความเสี่ยงของรถโดยสารหมวด 30 และข้อเสนอเพิ่มความปลอดภัย
นายนิกร จำนง เปิดเผยว่า ตนมีประสบการณ์ด้านคมนาคมมากกว่า 20 ปี และมองว่า รถโดยสารหมวด 30 มีความปลอดภัยต่ำ เนื่องจากไม่ได้เป็นรถที่วิ่งประจำทาง ทำให้การตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยเป็นไปได้ยาก อีกทั้งการควบคุมความเร็วของรถประเภทนี้ทำได้ลำบาก ในช่วงหลังพบว่าอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับ รถบัสโดยสารสองชั้น และ รถตู้โดยสารหมวด 30 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบนถนนสายเสี่ยง เช่น ถนนสาย 304 ที่เกิดอุบัติเหตุรุนแรงหลายครั้งในปี 2567 รวมถึงถนนเสี่ยงอื่นๆ ทั่วประเทศ ปัจจุบันมาตรการด้านความปลอดภัยของภาครัฐยังอยู่ในระดับ ขอความร่วมมือ มากกว่าการมีมาตรการบังคับที่ชัดเจน ส่งผลให้ปัญหายังคงเกิดขึ้นซ้ำซาก
ชงเพิ่มวงเงินประกันภัย เยียวยาผู้ประสบเหตุ
นายนิกรกล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้หารือกับ นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เกี่ยวกับแนวทางการเพิ่มวงเงินประกันภัยให้เหมาะสมกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ปัจจุบัน วงเงินประกันภัยรวมอยู่ที่ 10 ล้านบาท แต่แบ่งจ่ายให้ผู้เสียชีวิตเพียง 500,000 บาทต่อราย ซึ่งถือว่าน้อยเกินไป โดยเฉพาะในกรณีนี้ที่มี ผู้เสียชีวิตถึง 18 คน และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก หากคำนวณเงินเยียวยาต่อรายแล้วพบว่าไม่เพียงพอ จึงเสนอให้มีการ ขยายวงเงินประกันภัย ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบจากผู้ประกอบการ และช่วยเหลือครอบครัวของผู้ประสบเหตุอย่างเหมาะสม
ข้อมูล / ภาพ : thairath