ถ้าศาลคือเสาหลักของบ้านเมือง… วันนี้เสานั้นสั่นสะเทือน ไม่ใช่เพราะประชาชนลุกฮือ ไม่ใช่เพราะการเมืองแทรกแซง แต่เพราะ “คนในบ้านเอง” ที่เดินเข้าไปถอดน็อตเสาต้นนั้นทีละตัว…
ข่าวร้อนกลางเดือนพฤษภาคม ไม่ใช่ข่าวดารา ไม่ใช่ข่าวเศรษฐกิจ แต่คือข่าวที่ควรทำให้คนทั้งประเทศต้อง “หน้าชา” และ “หัวใจเย็นวาบ” คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมมีมติให้ “ผู้พิพากษา 3 ราย” พ้นจากราชการ ด้วยเหตุผลอันหนักหนาสาหัสว่า “กระทำผิดวินัยร้ายแรง”
ไม่ต้องปรุงแต่ง ไม่ต้องเติมสี… เพราะเนื้อข่าวมันเข้มข้นพออยู่แล้ว
รายแรก… ถูกลงโทษเพราะแทรกแซงคดีที่ไม่ใช่ของตัวเอง เดินข้ามเขตอำนาจ ตัดสินแทนความยุติธรรม ด้วยท่าทีไม่สำรวม ไม่สุภาพ คำถามคือ ความยุติธรรมต้องยืนอยู่บนพื้นฐานแบบไหน? พฤติกรรมแบบนี้สะท้อนความเป็น “ผู้พิพากษา” ได้อย่างไร?
รายที่สอง… เจ้าของสำนวนคดีที่เขียนชื่อ “คนนอก” ลงไปในคำพิพากษา กล่าวหาว่าเขา “ไม่ผิด” ทั้งที่ไม่ได้เป็นคู่ความ ไม่ได้ขึ้นศาล ไม่ได้ถูกฟ้อง แล้วสิ่งนั้นถูกนำไปใช้ “สร้างประโยชน์” อย่างมิชอบ… แล้วคำถามก็คือ คำพิพากษาถูกใช้เป็นเครื่องมือหรือเป็นเครื่องชี้ชะตา?
รายที่สาม… ถึงขั้นโดน “ไล่ออก” เพราะมีพฤติกรรมร่วมกระบวนการ “แลกเปลี่ยนเวร” เพื่อให้มีคำสั่ง “ปล่อยตัวชั่วคราว” ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ชัดเจนว่ามีขบวนการ มีการวางแผน และมีคน “รู้เห็นเป็นใจ” แต่คำถามที่ใหญ่กว่านั้นคือ ใครได้ประโยชน์?
เรื่องนี้สะท้อนอะไร? มันสะท้อนว่า ความศรัทธาต่อระบบยุติธรรมไทย ไม่ได้ถูกทำลายจาก “คนนอก” แต่มักถูกกัดกร่อนจาก “คนในเครื่องแบบดำ” ที่ลืมว่าตนเองแบกรับความยุติธรรมของประเทศเอาไว้
ถ้าการลงโทษครั้งนี้คือ “การชำระล้าง” ระบบตุลาการ ก็จงอย่าให้หยุดแค่เพียงสามราย จงส่องไฟไปให้ทั่วทุกมุมของอำนาจศาล… เพราะศรัทธาของประชาชน จะไม่มีวันกลับมา ถ้าเรายังไม่กล้าพูดว่า “ตุลาการที่ผิด ต้องรับผิด”
เพราะยุติธรรมที่ไม่มีคุณธรรม… ก็คืออำนาจที่ไร้หลักฐานรองรับ!
