27 มิถุนายน 2568 พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตกเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง เมื่อมีการเปิดเผยเอกสารจาก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเอ็มเอฟซี (MFC) ที่ชี้ว่า นางสุนงค์ สาลีรัฐวิภาค คู่สมรสของเขาไม่สามารถโอนหุ้นได้สำเร็จตามกฎหมาย ส่งผลให้การถือหุ้นดังกล่าวเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 และสุ่มเสี่ยงต่อการพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี
เอกสาร MFC แฉชัด โอนหุ้นไม่สำเร็จ
กรณีดังกล่าวเริ่มต้นจากการที่มีผู้ร้องเรียนต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะรัฐมนตรี หลังพบว่าเขาเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นในบริษัทเอกชนหลายแห่ง รวมถึงมีความเกี่ยวพันกับ บริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด ที่ภรรยาของเขาถือหุ้นอยู่เกินกว่าร้อยละ 5 ซึ่งขัดต่อเงื่อนไขตาม รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 187
แม้นางสุนงค์จะดำเนินการทำสัญญาโอนหุ้นให้กับ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน MFC เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 และ 4 กันยายน 2567 เพื่อลดความเสี่ยงทางกฎหมาย แต่กลับปรากฏว่าการโอนหุ้นดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากขัดต่อข้อบังคับข้อที่ 6 ของบริษัท ซึ่งกำหนดไว้ว่า “ห้ามโอนหุ้นให้บุคคลภายนอก” นอกจากผู้ถือหุ้นเดิมหรือทายาทโดยตรง
มีการใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้น แม้โอนหุ้นไม่ผ่าน
ข้อเท็จจริงยิ่งซับซ้อนขึ้นเมื่อพบว่า วันที่ 13 พฤษภาคม 2568 บริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด ได้มีหนังสือแจ้งต่อนายทะเบียนกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่าการโอนหุ้นดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ และในเวลาต่อมา วันที่ 28 พฤษภาคม 2568 นางสุนงค์ยังคงเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น และใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทอีกด้วย
สถานการณ์นี้ส่งผลให้ MFC มีหนังสือแจ้งยกเลิกสัญญาการรับโอนหุ้นทั้งสองฉบับเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2568 โดยถือว่าการโอนหุ้น “ไม่มีผลย้อนหลัง” และเสมือนไม่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2566 นั่นหมายความว่า ภรรยาของนายพีระพันธุ์ ยังคงถือหุ้นอยู่ตามเดิม และไม่ได้โอนให้กับบริษัทจัดการกองทุนอย่างที่ตั้งใจไว้

เสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 อาจหลุดตำแหน่งรัฐมนตรี
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 187 ระบุชัดว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเอกชน รวมถึงคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะก็อยู่ภายใต้ข้อบังคับเดียวกัน เพื่อป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และการปิดบังบัญชีทรัพย์สิน
กรณีของ นางสุนงค์ จึงอาจทำให้ พีระพันธุ์ ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หากมีการพิจารณาว่าการถือหุ้นดังกล่าวยังอยู่ในกรรมสิทธิ์ของภรรยา และไม่มีการโอนอย่างถูกต้องตามกฎหมายและข้อบังคับบริษัท
ขณะนี้ผู้จัดการกองทุน MFC ได้รายงานการเปลี่ยนแปลงสถานะการจัดการหุ้นต่อ ประธาน ป.ป.ช. แล้ว ซึ่งเป็นที่จับตาว่าคณะกรรมการจะดำเนินการตรวจสอบ และมีคำวินิจฉัยอย่างไรต่อคุณสมบัติของนายพีระพันธุ์ ในระยะเวลาอันใกล้