วันที่ 27 มิถุนายน 2568 สมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา จุดประเด็นการเมืองระหว่างประเทศอีกครั้ง หลังออกมากล่าวต่อหน้าประชาชนที่จังหวัดพระวิหาร เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย ว่าเคย “แกล้งป่วย” เพื่อเลี่ยงการถูกจำคุกในคดี และเคยให้ความช่วยเหลือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลบหนีออกนอกประเทศ และยังกล่าวอย่างมีนัยว่า “มีอาวุธยิงถึงกรุงเทพฯ ได้ แต่ไม่ทำ”
คนพี่แกล้งป่วย
ในการกล่าวปราศรัยที่ถูกถ่ายทอดผ่านช่องโทรทัศน์ของรัฐ ฮุน เซน เปิดโปงอาการป่วยของ ทักษิณ ชินวัตร ที่ปรากฏตามสื่อในช่วงปี 2566 เป็นเพียง “การหลอกลวงคนในประเทศ” โดยระบุว่าในการพบปะกันครั้งหนึ่ง ทักษิณสามารถเดินได้ปกติ ไม่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรง และถอดเฝือกคอทันทีเมื่อไม่อยู่ต่อหน้ากล้อง
แม้ทักษิณจะได้รับการลดโทษจากโทษจำคุกในหลายคดีหลังกลับประเทศไทยเมื่อปลายปี 2566 โดยอ้างอาการป่วยเป็นเหตุผลสำคัญ แต่คำกล่าวของฮุนเซนได้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับความชอบธรรมในกระบวนการยุติธรรมไทยอีกครั้ง

คนน้องหนีออกนอกประเทศ
ในช่วงหนึ่งของคำปราศรัย ฮุน เซน ยอมรับโดยตรงว่า รัฐบาลกัมพูชาเคยให้ความช่วยเหลือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลบหนีออกนอกประเทศไทยในปี 2560 ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาจำคุกในคดีรับจำนำข้าว โดยระบุว่าเป็น “ภารกิจทางมนุษยธรรม” ที่ดำเนินการอย่างลับที่สุด และยังเปิดเผยว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ถือหนังสือเดินทางของเขมรในขณะพำนักอยู่ต่างประเทศ
คำกล่าวนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้นำกัมพูชายอมรับอย่างเปิดเผยว่ามีบทบาทในกระบวนการหลบหนีของอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของไทย และอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ รวมถึงการตรวจสอบบทบาทของหน่วยงานความมั่นคงในไทย
อาวุธยิงถึงกรุงเทพฯ แต่อยู่เฉยเพราะรักสันติ?
ประโยคปิดท้ายของการกล่าวปราศรัยที่ว่า “เราไม่จำเป็นต้องยิง แต่เรามีอาวุธที่ยิงถึงกรุงเทพฯ ได้” แม้จะไม่มีการระบุชัดเจนว่า “อาวุธ” ดังกล่าวหมายถึงอะไร
การเลือกใช้คำพูดในลักษณะนี้สะท้อนถึงความตึงเครียดที่ยังคงอยู่ระหว่างทั้งสองประเทศ และอาจเป็นสัญญาณเตือนว่ากัมพูชายังคงถือไพ่สำคัญในความสัมพันธ์ทางการเมืองกับประเทศไทยในปัจจุบัน
การออกมาแฉแบบ “เบา ๆ” ของสมเด็จ ฮุน เซน ครั้งนี้ ไม่เพียงจุดกระแสในประเทศเท่านั้น แต่ยังทำให้สื่อระดับนานาชาติเพ่งเล็งความสัมพันธ์เชิงซ้อนของการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากยิ่งขึ้น