ความขัดแย้งระหว่าง ไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร เลขาธิการพรรคกล้าธรรม กับ ไอซ์ รักชนก ศรีนอก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ปะทุขึ้นอย่างดุเดือดตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อสองนักการเมืองเปิดศึกซัดกันทั้งในและนอกสภา จุดเริ่มต้นจากวิวาทะเรื่อง “กินข้าวกับอนุทิน” ลุกลามไปสู่การเปิดแผลกันด้วยข้อมูลทั้งเรื่องงบประมาณ ฝายการเกษตร และประวัติทางการเมืองในพื้นที่กำแพงเพชร จุดชนวนการเมืองร้อนที่ต้องจับตาว่าจะลงเอยอย่างไร
ไอซ์ รักชนก “กินข้าวกับอนุทิน”
จุดเริ่มต้นของการปะทะเดือด เกิดขึ้นในวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 เมื่อ ไผ่ ลิกค์ โพสต์เฟซบุ๊กพาดพิงถึง ไอซ์ รักชนก ว่า “ทำมัยไอซ์ไม่ไลฟ์สดตอนคุยกับท่านอนุทิน” ซึ่งเป็นการแซะพฤติกรรมของไอซ์ที่ก่อนหน้านี้เคยเรียกร้องความโปร่งใสผ่านการไลฟ์ประชุมกรรมาธิการงบประมาณปี 2569
คำแซะดังกล่าวกลายเป็นชนวนให้ ไอซ์ รักชนก โต้กลับแบบตรงไปตรงมาว่า การรับประทานอาหารกับ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจสาธารณะ ต่างจากการประชุมกรรมาธิการที่ใช้ภาษีประชาชน พร้อมแขวะกลับว่า “ถ้านิสัยดีจริง คงได้เป็นรัฐมนตรีไปแล้ว” โดยชี้ว่า พฤติกรรมทางการเมืองควรสะท้อนผ่านผลงาน ไม่ใช่คำพูด
ไผ่ ลิกค์… “รอฝายมา 20 ปี”
ไม่จบเพียงวาทกรรมบนโซเชียล ในช่วงวันที่ 12-14 กรกฎาคม 2568 สถานการณ์ยิ่งปะทุหนักขึ้นไปอีกขั้น เมื่อ ไอซ์ รักชนก เปิดเผยข้อมูลบนเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยพาดพิงถึง “งบประมาณสร้างฝาย” ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรหลักจากที่ตัวของ ไผ่ ลิกค์ บอกว่า รอฝายมา 20 ปีแล้ว
ไอซ์โพสต์ภาพพร้อมระบุข้อความว่า “รอฝายมา 20 ปี… แล้วใครเป็น ส.ส.เขตนี้บ้าง?” พร้อมแนบภาพที่แสดงว่า ส.ส. ตระกูลลิกค์ ได้รับเลือกตั้งในเขตนี้ย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2529 ทำให้เกิดข้อสงสัยในสาธารณะว่า ทำไมปัญหาการจัดสรรงบประมาณด้านการเกษตรในพื้นที่ถึงยังไม่ถูกแก้ไข แม้จะมี ส.ส. จากตระกูลเดียวกันยึดครองพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง
ฝั่ง ไผ่ ลิกค์ ตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนเช่นกัน โดยระบุว่า การที่ ไอซ์ พาดพิงโครงการฝายในกรรมาธิการงบฯ นั้นทำให้ประชาชนในพื้นที่รู้สึกไม่พอใจ เพราะมองว่าอาจเป็นเหตุให้โครงการถูกเบรกหรือโดนตัดงบ ส่งผลให้ กลุ่มชาวบ้านกว่า 100 คน รวมตัวกันประท้วงที่ศูนย์ประสานงานพรรคประชาชน และยื่นหนังสือสอบถามพฤติกรรมของ ส.ส. จากพรรคประชาชน
ไผ่ยังกล่าวหาว่า ไอซ์พยายามใช้เวทีกรรมาธิการเพื่อชะลอหรือตั้งข้อสังเกตกับโครงการที่เป็นประโยชน์กับพื้นที่ของตน โดยไม่เข้าใจบริบทของปัญหาในพื้นที่จริง และแนะนำให้ “ลดอคติแล้วทำงานเพื่อประชาชนดีกว่า”

การโต้กันของทั้งสองไม่ได้จบลงที่คำพูด แต่พัฒนาไปสู่ “การใช้โซเชียลมีเดียเป็นอาวุธ” โดยแต่ละฝ่ายพยายามเปิดเผยข้อเท็จจริงในแบบของตนเพื่อสร้างความชอบธรรมและสนับสนุนจุดยืนของตัวเอง
ไอซ์ รักชนก ใช้กลยุทธ์ข้อมูลย้อนหลังเพื่อแฉว่า ตระกูลลิกค์ครองอำนาจในกำแพงเพชรมาหลายทศวรรษ แต่ปัญหาฝายและการจัดการน้ำยังไร้ทางออก ซึ่งสวนทางกับคำกล่าวอ้างของไผ่ที่ว่า “รอฝายมา 20 ปี”
ในทางกลับกัน ไผ่ ลิกค์ ใช้กลยุทธ์ “คลื่นมวลชน” มาเป็นเครื่องมือ โดยชี้ว่าการที่ชาวบ้านออกมาเคลื่อนไหว ไม่ใช่เพราะจัดตั้ง แต่เป็นเพราะไอซ์สร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโครงการงบประมาณ และเตือนให้ฝ่ายตรงข้ามระมัดระวังในการนำเสนอข้อมูล โดยไม่บิดเบือนบริบท
อุดมการณ์ที่ต่างกันสุดขั้ว
ศึกครั้งนี้ไม่ใช่แค่การถกเถียงเรื่องนโยบาย แต่นำเสนอภาพชัดเจนของ ความแตกต่างในแนวทางการเมืองของนักการเมืองรุ่นใหม่ ที่แม้จะมาจากยุคสมัยที่ใกล้เคียงกัน แต่กลับมีจริตการเมืองที่แตกต่างราวฟ้ากับเหว
ไอซ์ รักชนก เป็นตัวแทนของแนวคิดที่มักจะเน้นความโปร่งใสในสภา เน้นการตรวจสอบ และยึดหลักการเหนือความสัมพันธ์ส่วนตัว ขณะที่ ไผ่ ลิกค์ แม้จะจัดว่าอยู่ในรุ่นใหม่เช่นกัน แต่ก็มักแสดงจุดยืนเป็นส.ส.เขต ที่เน้นการลงพื้นที่ ประสานประโยชน์ และการปกป้องฐานเสียงของตนเองอย่างเข้มแข็ง
ประเด็นทั้งหมดทำให้เกิดการตั้งคำถามในหมู่ประชาชนว่า หากนักการเมืองที่ถือเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ยังปะทะกันเองเช่นนี้ สุดท้ายใครจะเป็นผู้สร้าง “การเมืองใหม่” ที่ประชาชนต้องการจริงๆ