ศปช.มอบ มหาดไทย เร่งจ่ายเยียวยาน้ำท่วม หลังคลอดงบ 3 พันล้าน

ศปช.มอบ กระทรวงหาดไทย เร่งจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วม หลัง ครม.อนุมัติงบ 3 พันล้าน – คาดฝนเหนือ อีสาน จบกลางเดือนตุลาคม ก่อนลงใต้ “ผบ.ทสส.” ยันกองทัพพร้อมรับมือพายุลูกใหม่

วันที่ 18 กันยายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ว่า วันนี้ในที่ประชุมจะดำเนินการในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในเรื่องสำคัญคือ

1.ติดตามประมวลข้อมูลสถานการณ์ และธุรการในการปฏิบัติงานการแก้ไขปัญหาน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ดินโคลนถล่ม จนเกิดอุทกภัย เพื่อให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

2.บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และการคาดการณ์วิเคราะห์สภาพอากาศ ปริมาณน้ำในลำน้ำ แหล่งกักเก็บน้ำ พื้นที่น้ำหลาก และอิทธิพลจากการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อการแจ้งเตือน สร้างการรับรู้

3.ประสานการช่วยเหลือผู้ประสบภัย การรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนผู้ประสบภัย รวมไปถึงการวางแผนการเคลื่อนย้าย การจัดเตรียมที่พักอาศัย และการจัดส่งอาหารเครื่องมืออุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ

4.ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข่าวสาร ให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ให้ทันต่อเหตุการณ์ โดยให้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกรมประชาสัมพันธ์ ในการเป็นแม่ข่ายดำเนินการ ให้ปรับผังการประชาสัมพันธ์ มาที่เรื่องสถานการณ์น้ำเป็นเรื่องหลัก ในช่วง 1-2 เดือนนี้ เพื่อป้องกันดรามาทั้งหลาย ซึ่งขอให้โฟกัสไปที่เรื่องการช่วยเหลือประชาชนเป็นหลัก

5.เชิญหน่วยงาน และบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมปรึกษาหารือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตามความเหมาะสม และ 6.ต้องรายงานผลให้ ศปช. ทราบเป็นระยะ ๆ

โดยทั้งหมดนี้คือ ภารกิจของเป้าหมายเบื้องต้นในการดำเนินการ แต่สิ่งที่สำคัญคือ การจัดการปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องของฝน หรือพายุ ที่เข้าประเทศไทยในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคอีสาน

คาดว่า จะจบลงในช่วงกลางเดือนตุลาคม หลังจากนั้นสถานการณ์ฝนจะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ เพราะฉะนั้น ศปช. จะดำเนินการเฉพาะหน้า เพื่อจัดการปัญหาอย่างต่อเนื่องไปจนจบสถานการณ์ ซึ่งคาดว่าจะจบในปีนี้

ขณะที่การจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชน จะสามารถจ่ายเร็วที่สุดช่วงเวลาใดนั้น นายภูมิธรรม ระบุว่า เมื่อวานนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือ 3,045 ล้านบาท โดยกระทรวงมหาดไทย สามารถดำเนินการได้ทันที และจะดำเนินการให้เร็วที่สุด และพยายามไม่ทำให้มีขั้นตอนทางกฎหมายมากมาย

เรื่องนี้นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการไปแล้ว เวลานี้หัวใจสำคัญที่สุด คือให้เราได้รู้สึกว่าได้ดูแลเยียวยา หากเรามัวรอว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมอะไรก็จะใช้เวลา จึงได้มีมติอนุมัติในเงินก้อนแรกจำนวน 3,045 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ใช้เวลาประมาณอีก 1 สัปดาห์ เพื่อดูว่าจะปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง เพราะกฎเกณฑ์นี้ใช้มา 10 กว่าปี ก็คาดว่าน่าจะมีการปรับกันอีกครั้งหนึ่ง พร้อมยอมรับว่า การวางกฎเกณฑ์มีปัญหาหลายอย่าง เพราะมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ขณะนี้คิดว่าจะต้องจัดการอย่างไรเพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น

นายภูมิธรรม ย้ำว่า กระทรวงมหาดไทย จะเป็นตัวหลักในการจัดการงบประมาณก้อนนี้ และเรื่องที่สำคัญคือการตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น และแยกออกจากความเสียหายในส่วนของพืชผลจากไร่นาต้องรออีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้เอาแค่ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน

อย่างไรก็ตามได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ หนึ่งชุด เพื่อหาข้อสรุปในการเยียวยาเพิ่มเติม ในการทบทวนกฎระเบียบการเยียวยา โดยมีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, สำนักงบประมาณ, กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นหนึ่งคณะ เพื่อไปศึกษารูปแบบการเยียวยา และการกำหนดจำนวนปริมาณ จะสามารถจบได้ภายในหนึ่งสัปดาห์ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้มีมติเห็นชอบต่อไป

นอกจากนี้ที่ประชุมมีการเตือนภัยล่วงหน้า ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA., สารสนเทศของกรมทรัพยากรน้ำ, หน่วยงาน ปภ., กรมอุตุนิยมวิทยา และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการตรวจสอบทิศทางลมมรสุมที่จะเข้าสู่ประเทศไทย ที่สามารถมองเห็นตั้งแต่ต้นทางตั้งแต่เขตประเทศเมียนมา และประเทศจีน และให้มีการประสานงานกับค่ายผู้ให้สัญญาณโทรศัพท์มือถือต่าง ๆ มาร่วม เพื่อให้การแจ้งเตือนภัยเป็นไปอย่างทันท่วงที

พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี

ขณะที่ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวถึงการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ว่า กองทัพทำงานอย่างเต็มที่ตามที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม สั่งการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการฟื้นฟูพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พร้อมกับการเตรียมรับมือพายุลูกต่อไป ในพื้นที่ภาคอีสาน

เมื่อถามว่า ช่วงใกล้เกษียณอายุราชการการทำงานของหน่วยต่างๆ จะไร้รอยต่อใช่หรือไม่ พล.อ.ทรงวิทย์ ยืนยันว่า จะไม่มีรอยต่อทุกคนจะต้องทำงาน จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 และเชื่อว่าทหารทุกคนที่จะเกษียณอายุราชการจะยังคงปฏิบัติหน้าที่

พล.อ.ทรงวิทย์ ยังระบุอีกว่า เมื่อสักครู่ได้หารือกับอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ซึ่งหน่วยบัญชาการกองทหารพัฒนา อยู่ในกองทัพไทย อยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว และจะร่วมมือกับทาง ปภ.เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนงานได้เร็วขึ้น รวมไปถึงหน่วยกองทัพบกมีกำลังพลอยู่ ซึ่งต้องช่วยกันทั้งเครื่องมือ และกำลังพล ซึ่งกรมทหารพัฒนาถือเป็นหน่วยที่อยู่ในสนามอยู่แล้ว จึงต้องถึงที่เกิดเหตุก่อน 24 ชั่วโมงให้ได้ นี่คือเป้าหมาย

พล.อ.ทรงวิทย์ ยังเปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้มีกำลังทหารอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 300 นาย รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งกองทัพภาคที่ 2 เป็นผู้รับผิดชอบ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ส.ค. ร่วง หลังน้ำท่วมซ้ำกำลังซื้อหด จี้รัฐเยียวยาภาคธุรกิจ

ถกสนั่น Fed จะลดดอกเบี้ยแรงหรือเบา ตลาดเทน้ำหนักหั่น 0.50%