ระยะนี้ คำว่า “ยุบสภา” และ “ยุบพรรค” เป็นคำฮิต ได้ยินกันบ่อยมาก
เป็นผลจากคำร้อง ทั้งโดยผู้ออกนามและไม่ประสงค์ออกนามร้องต่อ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้พิจารณา อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล
โดยกล่าวหาว่าเข้าไปควบคุม ครอบงำ และชี้นำกิจกรรมพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล
และหรือยอมให้ อดีตนายกฯทักษิณควบคุม ครอบงำ และชี้นำกิจกรรม
เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
และความผิดที่มีโทษถึงยุบพรรคตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง
เหตุเกิดหลังจาก นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นเก้าอี้นายกฯ และอยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
คำร้องที่เกิดขึ้น เห็นได้ชัดว่าผู้ร้องต้องการให้นำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทย ซึ่งเพื่อไทยเองผ่านมาแล้ว 2 รอบ
ความเป็นไปได้ ต้องรอฟังการพิจารณาของ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนเรื่องความคิดเห็นว่าจะยุบกันจริง ๆ หรือไม่ เกิดการวิเคราะห์วิจารณ์กันไปหลายทิศหลายทาง
ส่วนหนึ่งเห็นว่าอาจไม่มีอะไรก็ได้ เพราะเมื่อตอนตัดสินให้ นายกฯเศรษฐาพ้นไป ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมาย
เสียงวิจารณ์ย้อนไปถึงการยุบพรรคที่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ ว่า เป็นมาตรการกฎหมายที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ หรือน่าจะต้องมีการสังคายนากฎกติกากันแบบครั้งใหญ่
แต่อีกไม่น้อยเชื่อว่า ใน “นิติสงคราม” ที่คุกรุ่นขึ้นมาอีกครั้ง อะไรก็เกิดขึ้นได้ รวมถึงการยุบพรรค
กฎกติกาต่าง ๆ ก็มีอยู่ พร้อมให้เลือกหยิบมาใช้
เรียกว่า เมื่อมาเจอคำร้องแบบนี้ ถือเป็นสถานการณ์ระดับวิกฤต สำหรับรัฐบาลเพื่อไทย
เลยมีนักวิเคราะห์ฟันธงเปรี้ยงปร้างว่า พรรคเพื่อไทยเผชิญความสุ่มเสี่ยงแบบนี้ อาจไม่มีทางเลือกมากนัก
หากเห็นว่าไปต่อไม่ได้ พรรคเพื่อไทยอาจยุบสภา ให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกใหม่ และเผื่อจะมีช่องทางใหม่
เรื่องการยุบสภา ว่าความเป็นไปได้ก็มีอยู่ แต่น่าคิดว่ายุบสภาไป แต่คดียังไม่จบ แกนนำเพื่อไทยจะเลือกหนทางนี้หรือไม่
ประกอบกับระยะนี้มีข่าวว่า มีบางขั้วการเมืองรอจังหวะยุบสภา เพื่อจะช่วงชิงโอกาสเข้ามาเป็นรัฐบาล
เป็นขั้วการเมืองที่มีชุดความคิดต่างไปจากพรรคเพื่อไทย ประกอบกับสถานการณ์ความนิยมของพรรคการเมืองต่าง ๆ ในระยะนี้ ผันแปรไปมาก
โดยเฉพาะคือ ผันแปรไปจากหลังเลือกตั้ง 2566 ใหม่ ๆ
เกมยุบสภาที่พ่วงมากับการพลิกขั้วการเมือง เป็น Story ที่เข้ามาสนับสนุนข่าวเรื่องการยุบสภาให้ดูเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น
จะอย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ยังเป็นกระแสของการคาดหมายหรือคาดการณ์ ปะปนกันระหว่างข้อเท็จจริงและข้อคิดความเห็น
กระแสแบบนี้มีบ่อย ๆ ในการเมืองของประเทศไทย ที่ข้อมูล ข้อเท็จจริงของการเมืองไม่ค่อยเปิดเผยกัน
ความเป็นจริงตามกระแส อาจไม่เกิดขึ้น แล้วผ่านเลยไป
แต่ที่พลิกผันกลายเป็นเรื่องจริง ก็มีมาแล้วเช่นกัน

ข้อมูล/ภาพ : ประชาชาติธุรกิจ