ทสท. ถกปมแก้รัฐธรรมนูญ แนะยกร่างทำประชามติครั้งเดียวพอ เชื่อแก้ไม่ทันเลือกตั้งปี 70

พรรคไทยสร้างไทย จัดเสวนาแก้รัฐธรรมนูญ “โภคิน” ชี้ ยิ่งยื้อยิ่งแก้ยาก ชูตั้ง “สสร.” ยกร่างทำประชามติครั้งเดียวพอ ด้าน “ศิโรตม์” ซัด รธน.60 ผีร้ายของการรัฐประหาร ฟันธง แก้ไม่ทันใช้คุมเลือกตั้งปี 70 ขณะที่ “เลขาฯ ครป.” จี้พรรคการเมืองเร่งแก้ก่อนประชาชนกดดัน

วันที่ 10 ธ.ค. 2567 ที่พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญที่พรรคการเมืองรณรงค์หาเสียงไว้จะได้กี่โมง” เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ โดยเชิญนักวิชาการตัวแทนภาคประชาชนร่วมสนทนา อาทิ นายโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศพรรค ทสท., นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ, ด้านนายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) โดยนายโภคิน กล่าวตอนหนึ่งว่า ตนมองการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่า หากจะทำให้ประชามติผ่านได้ ต้องทำให้เร็ว สั้นกระชับที่สุด เพื่อให้กติกาทันการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปี 2570 ซึ่งกระบวนการแก้ไขหากต้องทำประชามติหลายครั้ง จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้า แก้ไขได้ยากสุดท้ายอาจไม่ทันการเลือกตั้ง หรือหากมีความเห็นแย้งการแก้ไขก็จะยุติลงไม่ไปถึงเป้าหมายจนรัฐบาลนี้หมดวาระ ก็ยังไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

“ทั้งนี้ วิธีที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนที่เป็นประชาธิปไตย ไม่จำเป็นต้องแก้ไขทั้งฉบับ แต่แก้รายมาตราตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้น โดยยกเว้นการแก้ไขหมวดที่ 1 และ 2 และไม่จำเป็นต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง สามารถแก้ตามทิศทางที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ หลักการคือการนำรัฐธรรมนูญปี 60 มาแก้ไขใหม่ โดยจัดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% เป็นผู้แก้ไขซึ่งการทำประชามติจะทำเพียงหนึ่งครั้ง ยึดหัวใจสำคัญคือ ทุกฝ่ายจะต้องไม่อคติกับเรื่องเพียงเล็กน้อย หรือเรื่องเทคนิคมากจนเกินไป โดยเฉพาะผู้มีอำนาจต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง รักษาคำมั่นที่ได้สัญญาไว้กับประชาชน หากไม่ซื่อสัตย์กับตัวเองก็อย่าไปคิดว่าจะซื่อสัตย์ต่อประชาชนได้” นายโภคิน กล่าว

ด้านนายศิโรตม์ กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีรัฐธรรมนูญที่ไม่ดี จึงเป็นต้นเหตุของกติกาที่เป็นปัญหา เช่น การเข้าสู่อำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และมองว่า ผู้มีอำนาจยังไม่เห็นว่าจะมีผู้ใดที่จะสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหรือสร้างความหวังทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยฟื้นกลับคืนมาได้ เหตุผลสำคัญคือ รัฐธรรมนูญเป็นปัญหา ทำให้ประเทศขาดโอกาส ปัญหาเช่นนี้ยังคงอยู่ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ รัฐธรรมนูญปี 2560 คือ ผีร้าย ผลพวงของการรัฐประหารยังคงอยู่ในรัฐธรรมนูญ กติกาที่วางไว้ยังคงอยู่ทำให้การเข้าสู่อำนาจของประชาชนหรือตัวแทนของประชาชนไม่สามารถเข้าสู่อำนาจได้ อาทิ สว. ปี 2567 ก็เกิดการตั้งคำถามว่า คนเหล่านี้เข้ามาได้อย่างไร เพราะไม่ได้แตกต่างไปจาก สว. ชุดเก่า จะเปลี่ยนแปลงก็เพียงแค่เจ้าของฟาร์ม ที่สะท้อนถึงความสิ้นหวัง ยังมองไม่เห็นว่าประเทศนี้จะเป็นของประชาชนอย่างแท้จริงได้อย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ทำให้ประชาชนไม่สามารถเลือกผู้นำของตนเองได้ตามเจตนารมณ์

“ปัจจุบันสังคมยังมองไม่ออกว่า จะนำพาประเทศออกจากกับดักของรัฐธรรมนูญปี 60 ได้อย่างไร คนมองไม่ออกว่า จะแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้อย่างไร ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องช่วยกันส่งเสียงให้เกิดการตื่นตัวขึ้นในภาคประชาชนจนนำไปสู่ฉันทานุมัติที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่าต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เกิดขึ้นจริง การสร้างชุดความคิดทำให้ประชาชนเห็นว่า ถูกควบคุม เชื่อว่าจะเป็นกติกาที่ใช้ควบคุมการเลือกตั้งถึง 3 ครั้ง รากเหง้าของการรัฐประหารยังปกคลุมประเทศ อย่างน้อยจนถึงการเลือกตั้งปี 2570 เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผู้ชนะการเลือกตั้งไม่ได้เป็นนายกฯ เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จนถึงนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จึงขอให้คนที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะคนในวัย 20 ปี ถึง 40 ปีซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดสร้างสรรค์และต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่าเพิ่งสิ้นหวัง” นายศิโรตม์ กล่าว

ขณะที่นายเมธา กล่าวว่า เวลา 2 ปีครึ่งก่อนการเลือกตั้งปี 2570 สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทัน แต่จนถึงวันนี้มีคำถามว่า ผู้มีอำนาจไม่กระตือรือร้นที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จหรือไม่ เพราะผู้ใช้อำนาจในปัจจุบันได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงไม่คิดจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง ตามที่ได้ประกาศหาเสียงกับประชาชนใช่หรือไม่ จึงเป็นหน้าที่ของภาคประชาชนที่จะช่วยส่งเสียงกดดัน เพื่อให้กติกานี้ได้รับการเปลี่ยนแปลง และขอฝากความหวังไว้ที่พรรคการเมือง ที่มองว่า สิ่งเหล่านี้คือปัญหาของประเทศที่ต้องเร่งแก้ไขเปลี่ยนแปลง ซึ่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค ทสท. เป็นอีกฉบับที่น่าสนใจ ทั้งนี้ที่ผ่านมา มีเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 30 องค์กรได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้วกว่า 20 ฉบับแต่ไม่ผ่านกลไกของวุฒิสภา (ส.ว.) จึงต้องทวงถามจากพรรคการเมืองที่เคยรับปากกับประชาชน และต้องเรียกร้องถึงพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภา ว่าหากมีความจริงใจในแก้ไขรัฐธรรมนูญเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขได้ทัน แต่หากปล่อยปละละเลย ยื้อเวลาออกไป ภาคประชาชนก็จะได้เดินหน้ากดดันเอง

ข้อมูล/ภาพ : ไทยรัฐ

นายกฯอิ๊งค์ พักผ่อนช่วงวันหยุด ชมดนตรีในสวน-เดินตลาดนัดอุทยาน 100 ปี

“วันนอร์” ชี้ นายกฯ-รัฐมนตรี ควรมาตอบกระทู้สด อย่าซีเรียส