วิป 3 ฝ่าย เคาะประชุมร่วมแก้รัฐธรรมนูญ 13-14 ก.พ. เหตุต้องพิจารณารอบคอบ

“วันนอร์” เผย วิป 3 ฝ่าย เคาะประชุมร่วมรัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญ 13-14 ก.พ.นี้ ไม่การันตีได้กติกาใหม่ในสภาชุดนี้ ฝ่ายค้านห่วงทอดเวลานานไป “วุฒิชาติ” เผย ส.ว.ส่วนใหญ่ รุมต้านตั้ง ส.ส.ร.

วันที่ 8 มกราคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่รัฐสภามีการประชุมวิป 3 ฝ่าย โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม กำหนดวันประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร แก้ไขเพิ่มเติม

ภายหลังการประชุม นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า เดิมกำหนดจะประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม 17 ฉบับ วันที่ 14-15 มกราคม 2568 แต่ที่ประชุมเห็นว่าการแก้ไขทั้งฉบับ ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบหลายด้าน จึงขอนำไปพิจารณาก่อน รวมถึงพรรคเพื่อไทยจะยื่นร่างเข้ามาเพิ่มอีก และไม่ทราบจะมีพรรคอื่นหรือภาคประชาชนเสนอเข้ามาด้วยหรือไม่

ฉะนั้น จะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาตรา 256 และหมวด 15/1 ในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568 เมื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับเสร็จแล้ว การทำประชามติก็สามารถใช้ร่างที่สภาฯ ยืนยัน หรือร่างที่วุฒิสภาแสดงความคิดเห็นไปทำประชามติได้ หากเป็นเช่นนั้นจะทำประชามติ 2 ครั้ง ไม่ได้ขัดแย้งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และในวันที่ 14 มกราคม 2568 จะประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาการแก้ไขข้อบังคับการประชุมร่วม

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวต่อไปว่า การเลื่อนประชุมแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากวิป 3 ฝ่าย เห็นว่าแม้พิจารณาเสร็จเร็วก็ต้องรอกฎหมายประชามติ 180 วัน ขณะนี้เหลือ 100 กว่าวัน จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งก็ไม่ช้าเกินไป อย่างไรก็ต้องรอ อยากให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยดี ทุกฝ่ายร่วมกันรับผิดชอบ ยังไม่สามารถจะพูดได้ว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในรัฐสภาชุดนี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการประชุมรัฐสภา ทั้ง 2 ครั้ง ครั้งแรกคือรับหลักการ และครั้งที่ 2 คือร่างที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะไปร่างอีกครั้ง รวมถึงประชาชนจะต้องออกเสียงประชามติอีก 2 ครั้ง เป็นความหวังว่าน่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่หน้าตาเป็นอย่างไรยังพูดไม่ได้

ทางด้าน นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ มีผลกระทบต่อประชาชนเพื่อให้เกิดความรอบคอบ ทาง ส.ว. ยืนยันว่าต้องนำไปพิจารณา การไปกำหนดระยะเวลาสั้นๆ ทำไม่ได้ หลายคนก็มีภารกิจหลายอย่าง เรื่องนี้เป็นความร่วมมือที่ดีของ 3 ฝ่าย ซึ่ง นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าให้แต่ละพรรคร่วมที่จะยื่นร่างแก้รัฐธรรมนูญให้ไปเตรียมการ แต่เราไม่สามารถตอบได้ว่าพรรคอื่นจะยื่นหรือไม่ ส่วนที่มองว่าเป็นนโยบายรัฐบาล แต่รัฐบาลไม่ยื่นร่างแก้ไขเข้ามานั้น รัฐบาลประกอบด้วยหลายพรรค ที่คุยกันหลายพรรคยังไม่พร้อม แต่หากพรรคใดจะเสนอก็ยินดี เป็นการทำงานร่วมกัน

ส่วน นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ระบุว่า ฝ่ายค้านมองการเลื่อนไป 1 เดือนอาจช้าเกินไป ตอนแรกเราขอให้เลื่อน 2 สัปดาห์ เพราะอยากให้มีการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการมากที่สุด แต่เมื่อวุฒิสภาอยากมีเวลาพิจารณาเพิ่มเติม จึงหาตรงกลาง คิดว่าการเลื่อนออกไปก็ไม่ได้กระทบกับกรอบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติมากนัก แม้เห็นไม่ตรงกัน แต่อยากให้ทุกอย่างราบรื่น

ขณะที่ นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ส.ว. ในฐานะวิปวุฒิสภา กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ จากการคุยนอกรอบกับพรรคเพื่อไทยบอกว่าจะยื่นร่างประกบเข้ามา จึงบอกว่าวุฒิสภาต้องใช้เวลาศึกษา ทุกคนมีเอกสิทธิ์ในการพูด รวมถึงมุมมองแตกต่างกัน จึงขอความกรุณาจากฝ่ายค้านและรัฐบาล จนสามารถหากรอบระยะเวลาที่ลงตัวกันได้ ส่วนประเด็นที่จะแก้ไขมาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น ส.ว.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะสุ่มเสี่ยงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงขอระยะเวลาศึกษา

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าหากไม่มีความชัดเจน ส.ว. จะไม่โหวตให้ใช่หรือไม่ นายวุฒิชาติ ตอบว่า เป็นเอกสิทธิ์ ส.ว. เพราะมีทั้งบางกลุ่มที่สนับสนุนและไม่สนับสนุน.

ข้อมูล/ภาพ : ไทยรัฐ

ชื่นมื่น 2 สส.ลำปาง ค่าย เพื่อไทย-ประชาชน ลั่นระฆังวิวาห์

กกต. ตั้งเป้าคนใช้สิทธิ์เลือกตั้ง อบจ. 65% ลั่นสนามเลือกตั้งไม่มีเจ้าพ่อ