เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2568 กสทช. หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ตัดศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายออกจากกฏ Must Have โดยให้เหตุผลที่ฟุตบอลโลกโดนถอดก็คือ ค่าลิขสิทธิ์ที่มีราคาเเพง รวมถึงไม่มีประเทศไทยเข้าร่วมเเข่งขัน ทำให้คนไทยส่วนใหญ่มองว่าเป็นการลงทุนที่ไม่มีประโยชน์ การตัดสินใจเพื่อยึดกลไกตลาดและลดภาระงบประมาณสาธารณะ พร้อมเปิดทางให้เอกชนเข้ามาจัดหาสิทธิ์ถ่ายทอดแทน
กฎ Must Have คือข้อกำหนดของ กสทช. ที่บังคับให้รายการกีฬาสำคัญบางรายการ เช่น โอลิมปิก หรือ ซีเกมส์ ต้องถ่ายทอดสดผ่าน ฟรีทีวี ให้ประชาชนทุกคนรับชมได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อประโยชน์สาธารณะและความเสมอภาคในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
เหตุผลถอดฟุตบอลโลกจาก Must Have
ประกาศฉบับใหม่ของ กสทช. อ้างถึงพระราชบัญญัติฯ คลื่นความถี่และกิจการโทรทัศน์ โดยให้เหตุผลว่า “ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย” ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้ชมในปัจจุบันและไม่มีนักกีฬาไทยร่วมแข่งขัน จึงไม่ควรเป็นรายการที่รัฐบังคับให้ถ่ายทอดผ่านฟรีทีวี
ภายหลังการปรับปรุง ภาคผนวก Must Have เหลือเพียง 6 รายการกีฬา ได้แก่ ซีเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์, เอเชียนเกมส์, เอเชียนพาราเกมส์, โอลิมปิก และพาราลิมปิก ซึ่งมีนักกีฬาไทยเข้าแข่งขันอย่างเป็นทางการ
กสทช.เน้นว่า รายการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ฟรีควรเป็นการแข่งขันที่สะท้อนชื่อเสียงคนไทยได้จริง เพื่อส่งเสริมความภาคภูมิใจของปวงชน ไม่ใช่รายการพาณิชย์ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเทศไทย

ลิขสิทธิ์ครั้งก่อนที่ยังคาราคาซัง
ย้อนกลับไปในกรณีถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกปี 2022 พบว่า กสทช. ได้อนุมัติเงินจากกองทุน กทปส. ประมาณ 600 ล้านบาทเพื่อให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ดำเนินการจัดหาสิทธิ์ โดยมีการร่วมมือกับเอกชนที่จ่ายเงินเพิ่มอีก 300 ล้านบาท แต่กลับเกิดเหตุการณ์ “จอดำ” เนื่องจากเอกชนอนุญาติให้เข้าชมได้เฉพาะลูกค้าของตนเอง จนกลายเป็นเรื่องฟ้องร้องกันในที่สุด
กระบวนการนี้สร้างความไม่มั่นใจในความโปร่งใสของการใช้เงินกองทุน เนื่องจากมีการตั้งคำถามว่าเงินจำนวนดังกล่าวอาจไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนที่ควรสนับสนุนการกระจายสื่อเพื่อประโยชน์ทางสังคม และยังได้มีการฟ้องร้องเรื่องการที่เจ้าหน้าที่ กสทช. เอื้อประโยชน์อย่างไม่ถูกต้องกับเอกซนรายดังกล่าวตามมาอีกด้วย
เรียกคืนกลไกตลาด–ให้เอกชนจัดลิขสิทธิ์เอง
การตัดฟุตบอลโลกออกจาก Must Have ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการคืนกลไกทางเศรษฐกิจให้ตลาด การถ่ายทอดรายการเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับการประมูลและการลงทุนของภาคเอกชน ทั้งนี้ หากไม่มีผู้จัดซื้อ สิทธิ์อาจตกค้างจนไม่ถูกนำเสนอให้ประชาชนรับชมในปีนั้น ๆ
อย่างไรก็ตาม หากอนาคตประเทศไทยสามารถเข้าสู่ฟุตบอลโลกได้จริง กสทช. ก็เปิดโอกาสที่จะนำรายการกลับมาอยู่ใน Must Have อีกครั้ง ตราบใดที่มีการเข้าร่วมแข่งขันของทีมชาติไทย