กรณีการเสียชีวิตของ นตท.ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ “น้องเมย” นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 เมื่อปี 2560 ได้กลายเป็นอีกหนึ่งบททดสอบสำคัญต่อระบบยุติธรรมของไทย โดยเฉพาะบทบาทของ ศาลทหาร และกระบวนการตรวจสอบภายในกองทัพ แม้จะผ่านมากว่า 7 ปี แต่ข้อสงสัยของสังคมเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิต การจัดการศพ รวมถึงการดำเนินคดีในลักษณะที่ดูจะขัดกับหลักความยุติธรรมสากล ก็ยังคงตามหลอกหลอนครอบครัวผู้เสียชีวิตและสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง
ซี่โครงหักแต่ไม่ผิดร้ายแรง?
รายงานการชันสูตรพบว่า น้องเมยมี ซี่โครงหัก 4 ซี่ รอยฟกช้ำหลายแห่ง แต่ผลสอบของหน่วยงานต้นสังกัดกลับสรุปว่าเป็นการเสียชีวิตจาก “ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน” ไม่มีบุคคลใดในระดับผู้บังคับบัญชาถูกตั้งข้อหา มีเพียง รุ่นพี่หนึ่งราย ถูกดำเนินคดีในศาลทหารข้อหา “ทำร้ายร่างกาย” ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ สร้างความเคลือบแคลงใจว่า ระบบสอบสวนภายในเลือกละเลยต่อพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายการทรมานหรือปฏิบัติอย่างโหดร้าย
อวัยวะสำคัญหาย ก็ไม่ผิด?
ประเด็นที่สังคมตั้งคำถามอย่างหนักคือ การที่ครอบครัวพบว่า สมอง หัวใจ กระเพาะ และอวัยวะอื่น ๆ ของน้องเมยได้ถูกนำออกไปจากร่างโดยไม่ได้รับการชี้แจงล่วงหน้า ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบซ้ำหรือหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิตได้อย่างอิสระ เป็นการตัดโอกาสของครอบครัวในการเข้าถึงความยุติธรรม และตอกย้ำภาพลักษณ์ของกระบวนการที่อาจจะไม่โปร่งใส

ศาลทหาร แดนสนธยาที่ไม่มีใครกล้าแตะต้อง
ศาลที่พิจารณาคดีรุ่นพี่ในกรณีน้องเมยคือ ศาลทหาร ซึ่งมีองค์คณะตุลาการเป็น “นายทหาร” และขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม โครงสร้างดังกล่าวถูกวิพากษ์ว่า เป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบไม่ได้ ทำให้เกิดความกังขาว่าการพิจารณาคดีจะให้ความเป็นธรรมกับครอบครัวผู้เสียชีวิตได้มากน้อยเพียงใด อีกทั้งยังสะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบตุลาการในคดีที่เกี่ยวข้องกับพลเรือนหรือผู้เสียหายที่ไม่มีอำนาจในการต่อรอง
ตลอดระยะเวลาหลายปีของการเรียกร้องความยุติธรรม ครอบครัวของน้องเมยและสังคมตั้งคำถามว่า เหตุใด ผู้บังคับบัญชาในโรงเรียนเตรียมทหาร ซึ่งควรมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของนักเรียนจึงไม่เคยถูกตั้งข้อหาหรือนำเข้าสู่กระบวนการสอบสวนทางวินัยอย่างจริงจังเลย