“เจนีวา-ออตตาวา” สนธิสัญญาสำคัญขนาดไหน ทำไมกัมพูชาไม่สนใจ?

เหตุปะทะชายแดนไทย-กัมพูชาที่เกิดขึ้นในช่วงเช้าวันที่ 24 กรกฎาคม 2568 อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้โลกหันมาจับตาพฤติกรรมของกัมพูชาในการเคารพต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ สนธิสัญญาเจนีวา และ สนธิสัญญาออตตาวา ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานในการคุ้มครองพลเรือนและลดอาวุธสงครามที่เป็นอันตรายต่อชีวิตประชาชน

สนธิสัญญาออตตาวา: ยุติการใช้กับระเบิด?

สนธิสัญญาออตตาวา (Ottawa Treaty) หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และถ่ายโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคล เป็นข้อตกลงที่หลายประเทศร่วมลงนามเพื่อยุติการใช้กับระเบิดในพื้นที่ความขัดแย้ง เนื่องจากอาวุธชนิดนี้สร้างความสูญเสียในวงกว้างต่อพลเรือนในระยะยาว

กัมพูชาเป็นประเทศภาคีของสนธิสัญญานี้ตั้งแต่ปี 1999 และได้ประกาศยุติการใช้กับระเบิดอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม จากเหตุปะทะล่าสุดที่บริเวณด่านตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์ พบว่าทหารไทยได้รับบาดเจ็บจากการเหยียบกับระเบิดแบบสังหารบุคคลในเส้นทางลาดตระเวนใกล้แนวชายแดน ซึ่งเป็นจุดที่ตรวจพบว่ากองกำลังกัมพูชาเคลื่อนไหวก่อนหน้าเพียงไม่กี่ชั่วโมง

แม้ทางรัฐบาลกัมพูชาจะแถลงปฏิเสธ แต่การปรากฏของอาวุธต้องห้ามในพื้นที่ที่มีความเคลื่อนไหวของกัมพูชา ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่อาจนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความจริงใจของรัฐบาลกัมพูชาในการเคารพข้อตกลงระหว่างประเทศ

สนธิสัญญาเจนีวา : ห้ามยิงใส่โรงพยาบาลหรือพลเรือน?

ในช่วงเวลาเดียวกัน มีรายงานว่า กระสุนปืนใหญ่จากฝั่งกัมพูชาได้ตกลงใส่พื้นที่บริเวณโรงพยาบาลพนมดงรัก ที่ตั้งอยู่ห่างจากแนวชายแดนราว 4 กิโลเมตร ส่งผลให้เจ้าหน้าที่พยาบาลได้รับบาดเจ็บ 2 นาย และมีความเสียหายต่ออาคารพยาบาลชั่วคราว

เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจอย่างหนักต่อฝ่ายไทย เนื่องจากโรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขถือเป็น “บุคคลและทรัพย์สินที่ได้รับความคุ้มครองพิเศษ” ตามสนธิสัญญาเจนีวาฉบับที่ 4 (1949) ซึ่งมีผลผูกพันต่อประเทศคู่กรณีที่ลงนามไว้

แม้กัมพูชาจะยังไม่ออกแถลงการณ์รับผิดชอบหรือชี้แจงอย่างเป็นทางการ แต่การโจมตีพื้นที่ที่มีสัญลักษณ์ของสภากาชาด หรือมีลักษณะใช้งานเป็นการแพทย์ชัดเจน ย่อมเข้าข่ายละเมิดอย่างร้ายแรงตามสนธิสัญญานี้ และอาจนำไปสู่การดำเนินคดีในเวทีระหว่างประเทศได้

ไม่เพียงแค่โรงพยาบาลสนามเท่านั้น ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ยังมีกระสุนปืนตกลงใส่ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ในปั๊ม ปตท.บ้านผือ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งอยู่ห่างจากแนวชายแดนถึง 50 กิโลเมตร ซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 8 รายในเหตุการณ์ดังกล่าว

ร้านสะดวกซื้อในพื้นที่พลเรือนจัดอยู่ในประเภท “วัตถุพลเรือน” ที่ไม่ควรถูกโจมตีตาม ข้อ 52 ของพิธีสารเพิ่มเติม ฉบับที่ 1 แห่งสนธิสัญญาเจนีวา การยิงอาวุธหนักใส่พื้นที่ดังกล่าว อาจเข้าข่ายการโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมาย (Indiscriminate Attack) ซึ่งถือเป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเช่นเดียวกัน

ถ้าละเมิดจริงจะเป็นอย่างไร?

การละเมิดสนธิสัญญาออตตาวาหรือเจนีวาไม่ได้เป็นเพียงปัญหาด้านภาพลักษณ์ในเวทีโลกเท่านั้น แต่ยังมี ผลทางกฎหมายระหว่างประเทศอย่างรุนแรง ด้วย หากพิสูจน์ได้ว่ากัมพูชาจงใจใช้อาวุธต้องห้าม หรือจงใจโจมตีเป้าหมายที่ได้รับการคุ้มครอง อาจเข้าข่าย “อาชญากรรมสงคราม” (War Crimes) ตามกฎหมายของ ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court – ICC)

ตัวอย่างเช่น ในกรณีของ ซีเรีย และ รัสเซีย ที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสนธิสัญญาเจนีวาจากการโจมตีโรงพยาบาลและพลเรือนในเขตสงคราม ทำให้มีการเรียกร้องให้ดำเนินคดีระดับนานาชาติ และในบางกรณีมีการออกหมายจับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศนั้นๆ ด้วย

หากประเทศไทยกสามารถรวบรวมพยานหลักฐานที่เพียงพอเพื่อส่งให้องค์กรระหว่างประเทศ เช่น คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) หรือองค์การสหประชาชาติ (UN) อาจเข้ามาตรวจสอบอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลกัมพูชาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทักษิณข้ามชอต ฟอร์มครม.ชุดหน้า

ฮุนมาเนต รับบทเหยื่อ ร่อนจดหมายถึง UNSC อ้างโดนไทยรุกราน