แผ่นกันกระสุน จากเส้นใย “กัญชง”  ปืน.45 กับ 9 มม.ยิงไม่ทะลุ ผลงาน 2 อาจารย์วิศวะเคมี

ทีมวิจัยภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข.สุดเจ๋ง ผลิตเสื้อเกราะแบบกระเป๋าเป้และแผ่นเกราะทำจากเส้นใยกัญชงผสมพลาสติกมีคุณสมบัติเบา ทดสอบประสิทธิภาพยิงด้วยปืน 9 มม. และ .45 มม. รวม 5 นัด กระสุนไม่ทะลุและรอยนูนไม่กระแทกร่าง ส่งมอบให้ตำรวจชุดสืบสวนใช้ปฏิบัติงานจริง ประเมินราคาตัวละ 8,000 บาท

ทีมวิศวะ ม.ขอนแก่น ผลิตเสื้อเกราะจากเส้นใยกัญชงผสมพลาสติก เปิดเผยเมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 13 ม.ค.ที่สนามยิงปืน ตำรวจภูธรภาค 4 ต.ในเมือง อ.เมืองขอนแก่น ผศ.พนมกร ขวาของ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ และนายสุธา ลอยเดือนฉาย อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ทีมนักวิจัยจากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) นำแผ่นกันกระแทกผลิตจากเส้นใยกัญชงกับพลาสติกมามอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.สส.ภ.จ.หนองบัวลำภู และตำรวจ สส.ภ.4 จำนวน 30 ตัว มีดีไซน์แตกต่างจากเสื้อเกราะทั่วไป มาในรูปแบบของกระเป๋าเป้สะพายหลังพกพาง่าย และเหมาะกับงานสืบสวนที่จะต้องแฝงตัวปฏิบัติหน้าที่ไม่ให้ใครรู้ว่าเป็นตำรวจ

ทีมวิจัยนำแผ่นเกราะจากกัญชงกับพลาสติกไปติดไว้ที่เป้ายิง เพื่อเริ่มการทดสอบใช้กระสุนจริงยิงใส่ หากภายใน 5 นัดแผ่นเกราะไม่ทะลุหรือมีรอยนูนขนาดใหญ่จนเข้าถึงร่างกายผู้สวมใส่ถือว่ามีประสิทธิภาพการป้องกันสามารถใช้งานในสถานการณ์ได้จริง การทดสอบตำรวจใช้ปืน 9 มม.ยิงที่เป้าจำนวน 3 นัด ไม่ทะลุและไม่มีรอยนูนที่ด้านหลังของแผ่นดังกล่าว จากนั้นใช้ปืน .45 มม. ยิงใส่อีกจำนวน 2 นัด กระสุนเข้าไปประมาณ 3 มม.แต่ไม่ทะลุ และไม่มีรอยนูนจากแผ่นด้านหลัง หลังทดลองยิงจำนวน 5 นัดกระสุนไม่ทะลุ และมีรอยนูนที่แผ่นดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ไม่สร้างความเสียหายหรือบาดเจ็บให้กับผู้สวมใส่

ผศ.พนมกร ขวาของ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. เปิดเผยว่า งานวิจัยเสื้อเกราะและแผ่นเกราะกันกระสุนจากกัญชงกับพลาสติกนั้น เป็นงานวิจัยใหม่ใช้วัสดุคือกัญชงกับพลาสติกมีกรดเพชร สามารถนำมาทำเสื้อเกราะ เส้นใยกัญชงมีความเหนียวค่อนข้างมาก แต่จะเปราะ เมื่อผสมกับเรซิ่นจะมีความแข็งแรงค่อนข้างสูงเหมือนเหล็ก ส่วนตัวพีอีทีที่ใช้ข้างหลังจะมีความพิเศษคือยืดก่อนขาดรับการกระจายของแรงได้ แล้วเมื่อนำมาถักทอเป็นแผ่นประกบเป็นชิ้นหลังก็จะกระจายแรงอัดได้ดี แผ่นแรกทำลายหัวกระสุน หยุดหัวกระสุนชะลอหัวกระสุน ส่วนตัวพีอีทีเป็นตัวกระจายแรงอัดไปทั่วแผ่น

ผศ.พนมกรเผยอีกว่า การใช้เส้นใยกัญชงผลิตแผ่นเกราะกันกระสุนเป็นแนวคิดที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากคุณสมบัติของเส้นใยมีความแข็งแรงและน้ำหนักเบา ผู้ใช้งานจะมีความคล่องตัวป้องกันกระสุนได้ รวมทั้งรอยยุบตัวไม่เกินมาตรฐาน 4.4 ซม. เพราะถ้ายุบตัวมากจะส่งผลต่อร่างกายกระแทกซี่โครงหัก ปอด ม้ามช้ำในต้องพักรักษาตัวนาน ข้อดีของเสื้อเกราะกันกระสุนชิ้นนี้จะไม่มีผลกระทบเหล่านี้ เพราะแผ่นเกราะจากใยกัญชงและพลาสติก ทดลองตามมาตรฐานนั้น สามารถป้องกันผลกระทบเหล่านี้

ด้านนายสุธา ลอยเดือนฉาย อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. เปิดเผยว่า แผ่นเกราะและชุดเสื้อเกราะกันกระสุนแบบเป้สะพายหลังที่ทำสำเร็จครั้งนี้มีขนาด 10×12 นิ้ว ถือเป็นขนาดมาตรฐานที่ออกแบบมาป้องกันส่วนสำคัญของร่างกาย ทีมวิจัยมองว่าจะนำกัญชามาทำ แต่ติดปัญหาในเรื่องของกฎหมายของกัญชาที่ยังไม่ลงตัว ทีมงานตกลงกันว่าเปลี่ยนมาใช้ต้นกัญชงและพลาสติก เมื่อการทำวิจัยสำเร็จการทดลองยิงจำนวน 5 นัดไม่ทะลุ ถือว่ามีผลสำเร็จเป็นที่พอใจ ส่วนการบริจาคให้ตำรวจ ภ.4 เพราะเป็นศูนย์กลางที่รับผิดชอบหลายจังหวัด มอบให้ตำรวจชุดสืบสวนเป็นผู้เผชิญเหตุเพื่อมีความปลอดภัยมากขึ้น ถ้าหากตำรวจหน่วยงานอื่นๆต้องการเสื้อเกราะรุ่นนี้ต้องตั้งงบประมาณขึ้นมา เพราะเสื้อเกราะรุ่นนี้มีกระเป๋าอย่างดีที่บรรจุแผ่นกันกระสุนประเมินราคาตัวละ 8,000 บาท ถือว่าชุดเสื้อเกราะจากใยกัญชงและพลาสติกที่ทีมวิจัยภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข.ทำสำเร็จเป็นทีมแรกของประเทศไทย

ขณะที่ พ.ต.ท.สุรัตน์ วันทะมาตร รอง ผกก. สส.สภ.ท่าพระ อ.เมืองขอนแก่น กล่าวว่า เห็นการทดสอบปืน 2 ขนาด 9 มม. และ 45 มม. การทดสอบและประเมินในครั้งที่ 1 ด้วยกระสุนปืน 9 มม. พบว่าด้านหลังของแผ่นเกราะไม่ทะลุมีข้อดีสำคัญคือ การปูดออกของแผ่นเกราะมีปริมาณน้อย ส่งผลให้เจ้าหน้าที่มีความปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากสรีระร่างกายของตำรวจแต่ละคนมีความแตกต่างกัน เมื่อแผ่นเกราะไม่ปูดออกมาจะช่วยลดความเสี่ยงที่กระสุนจะกระแทกบริเวณซี่โครง ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยสูงขึ้น ในฐานะผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จริงการทดลองนี้แสดงให้เห็นว่า การใช้แผ่นเกราะช่วยเพิ่มความปลอดภัยระหว่างปฏิบัติหน้าที่ แผ่นเกราะที่ได้มาตรฐานสามารถใส่ลงในกระเป๋าเกราะได้อย่างคล่องตัว อีกทั้งในสถานการณ์ที่ตอบโต้กับคนร้าย หากเจ้าหน้าที่ถูกยิงแล้วแผ่นเกราะสามารถป้องกันกระสุนไม่ให้ทะลุ เจ้าหน้าที่จะสามารถหลบเพื่อหาที่กำบังใหม่ได้ ลดความเสี่ยงจากการถูกยิงซ้ำในนัดที่สองหรือนัดที่สาม ดังนั้นแผ่นเกราะที่สามารถป้องกันกระสุนได้ตั้งแต่นัดแรก ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในการรักษาชีวิตของเจ้าหน้าที่

“การอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับการสวมใส่เสื้อเกราะ พบว่าการใส่เสื้อเกราะมีความปลอดภัยมากกว่าการไม่ใส่ ถือเป็นข้อดีที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นพัฒนาแผ่นเกราะที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตำรวจ ช่วยเพิ่มทางเลือกในการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันที่มีประสิทธิภาพ และสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจที่ต้องเผชิญความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” พ.ต.ท.สุรัตน์กล่าว

ข้อมูล / ภาพ : ไทยรัฐ

ล่าแก๊งตุรกี บุกห้องคอนโด ปล้นคริปโต เพื่อนร่วมชาติ ได้ไปเกือบ 10 ล้านบาท

“ภูมิธรรม”รับทราบเหตุบึ้มใต้ 2 วันติด ก่อน”นายกฯ”ลงพื้นที่ 16 ม.ค.นี้