5 ปีรักษาการ กับ 1 ปีที่ผู้มีอำนาจ “ไม่รักษากฎหมาย” แล้วใครจะรักษาบ้านเมือง?

จะมีกี่องค์กรในประเทศไทย ที่สามารถมี “รักษาการ” นานกว่า 5 ปี โดยไม่มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ?
คำตอบคือมีจริง และมีอยู่แล้ววันนี้… ในสำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.

ชายผู้ถูกพูดถึงมากที่สุดในโครงสร้างอำนาจหลังเงา ก็คือ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ผู้ดำรงตำแหน่ง “รักษาการเลขาธิการ กสทช.” มาตั้งแต่ปี 2563 โดยไม่เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นทางการจากใครเลย

ทั้งที่กฎหมายกำหนดชัด
ทั้งที่บอร์ดมีมติเห็นชอบให้เปลี่ยนตัว
ทั้งที่มีชื่อของ ผศ.ดร.ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ เสนอขึ้นมาแทน
และทั้งที่มี หลักฐานว่าเกิดความเสียหายจริง จากกรณี การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022

เพราะเงินจากกองทุนวิจัยกว่า 600 ล้านบาทที่ควรถูกใช้ให้ประชาชนได้ดูบอลฟรี กลับถูกจำกัดสิทธิด้วยข้อตกลงที่แปลกประหลาดระหว่าง กกท. กับเอกชน

กรรมการ กสทช. 4 คน ลุกขึ้นมาโต้
ตรวจสอบแล้วพบว่า นายไตรรัตน์ อาจมีส่วนละเลยในการควบคุม
และที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ตั้งโดยมติบอร์ดเอง ได้ชี้ชัดว่า อาจมีการฝ่าฝืนระเบียบ กสทช. และ MOU ที่ทำกับการกีฬาแห่งประเทศไทย

แต่แทนที่การตรวจสอบจะเดินหน้า
กลับมี “การเบรก” จากระดับบนสุดขององค์กร

ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เลือก “ไม่เซ็น” แต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัย
เลือก “ไม่เปลี่ยนตัว” รักษาการเลขาฯ
และสุดท้าย… เลือก “ยกเลิก” คณะกรรมการสอบวินัยที่มีมติแต่งตั้งไว้แล้วด้วยเสียงข้างมาก

กลายเป็นว่าอำนาจของ “คนหนึ่ง” เหนือกว่าเสียงของกรรมการทั้ง 4
กลายเป็นว่า “รักษาการ” ถูกยืดอายุไปแบบไร้การตรวจสอบ
และกลายเป็นว่า… ความเสียหายที่ควรหาคำตอบ กลับถูกละไว้ในฐานที่ไม่ต้องการกล่าวถึง

สิ่งที่น่าตั้งคำถามยิ่งกว่า คือ พอเรื่องนี้ไปถึงศาล
ตุลาการผู้แถลงคดีของศาลปกครองกลาง ถึงกับเสนอความเห็นต่อองค์คณะอย่างเด็ดขาดว่า…

ควรมีคำสั่งให้ดำเนินการต่อไปนี้ให้เสร็จภายใน 60 วันนับแต่มีคำพิพากษา

  1. ถอดถอนนายไตรรัตน์ ออกจากตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ กสทช.
  2. ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยนายไตรรัตน์
  3. เนื่องจากนายภูมิศิษฐ์ ซึ่งเคยถูกเสนอชื่อ ได้เกษียณอายุราชการไปแล้ว จึงไม่มีเหตุให้ออกคำบังคับในส่วนนี้

พูดง่าย ๆ ก็คือ ศาลชี้ชัดว่า การไม่ปฏิบัติตามมติบอร์ด การไม่ตั้งกรรมการสอบ และการไม่ถอดถอนรักษาการ คือ “ละเลยต่อหน้าที่”

เมื่อคำว่า “ละเลย” หลุดออกจากปากศาล
คำถามจึงต้องไปหยุดที่คนที่มีหน้าที่สูงสุดในประเทศ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการว่า ประธาน กสทช. ขาดคุณสมบัติ
เพราะยังทำงานกับมหาวิทยาลัยรามาธิบดีในช่วงสมัครเป็น กสทช.
และยังรับเงินจากหลายหน่วยงาน ทั้งโรงพยาบาลเอกชน ธนาคาร และบริษัทยาจากเยอรมนี

กฎหมายระบุไว้ชัดในมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ว่า
“หากนายกรัฐมนตรีทราบว่าใครขาดคุณสมบัติ ต้องนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พ้นจากตำแหน่ง”

แต่จนวันนี้ ท่านนายกฯ ยังคง “ไม่ดำเนินการใด ๆ” ทั้งที่เวลาผ่านไปหลายเดือน
นี่จึงเป็นคำถามใหญ่ที่ต้องถามดัง ๆ ว่า…

เมื่อรู้แล้ว แต่ไม่ทำ ถือว่าผิดมาตรา 157 หรือไม่?

และถ้าคำตอบคือใช่
ประเทศไทยกำลังมีนายกรัฐมนตรีที่ “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” ตามกฎหมายอาญาอยู่หรือไม่?

หรือว่า… เรื่องนี้จะเงียบ เพราะความสัมพันธ์เปลี่ยนไป?
จากที่เคยเป็น “คนของลุงป้อม” อาจได้โอนย้ายสังกัดไปอยู่ในเครือญาติสายตรงของ “นายพิชัย นริพทะพันธุ์” รัฐมนตรีพาณิชย์
ที่ลูกชายก็มีตำแหน่งใน กสทช. พร้อมเงินเดือนนับแสนบาท

ถ้าเรื่องนี้เป็นแค่ข่าวลือ ก็ควรออกมาชี้แจง
แต่ถ้าเป็นจริง แล้วผู้ที่รู้เรื่องกลับนิ่งเฉย
เราคงต้องถามด้วยภาษาชาวบ้านว่า…

“ถ้าไม่รักษากฎหมาย แล้วจะรักษาอะไร?”

“ถ้าคนที่มีหน้าที่ตัดสินใจ เลือกไม่ตัดสินใจ… แล้วบ้านเมืองนี้จะมีอนาคตได้อย่างไร?”

บางคนอาจบอกว่า “ช้างตายทั้งตัวจะเอาใบบัวปิดไม่ได้”
แต่ในประเทศที่ใบบัวใหญ่เกินเหตุ
บางทีช้างก็ตายทั้งตัวโดยไม่มีใครเห็น เพราะทุกคนต่างช่วยกันแปะใบบัวปิดไว้หมดแล้ว

ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล, ประธาน กสทช., ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์, แพทองธาร ชินวัตร, กสทช.

TESGX กองทุนลดภาษีใหม่ ยั่งยืนจริงหรือแค่พานเงินของรัฐ?